Abstract:
ที่มาและวัตถุประสงค์: โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ที่หายจากภาวะปอดอักเสบภายหลังการติดเชื้อจํานวนมาก โดยส่งผลกระทบทั้งทางสุขภาพทางกายและจิตใจ ซึ่งการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดเป็นวิธีที่มีส่วนช่วยในการฟื้นฟูสุขภาพทางจิตใจและทางกายของผู้ป่วย แต่ด้วยข้อจำกัดการเข้าถึงระบบการรักษาดังกล่าวในช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส จึงเป็นที่มาที่ทำให้เราตั้งใจศึกษาถึงผลของโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพแบบทางไกลที่มีการติดตามต่อเนื่องรายสัปดาห์ในผู้ป่วยที่หายจากภาวะปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019
วิธีการวิจัย: ผู้ป่วยที่หายจากภาวะปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 และผ่านเกณฑ์การเข้าร่วมการศึกษา จะเข้าร่วมโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพแบบทางไกล โดยจะได้รับคําแนะนําและสอนการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดจากแพทย์ผู้ทำการศึกษาและนักกายภาพบําบัดที่เกี่ยวข้องและนำไปฝึกและฟื้นฟูสมรรถภาพต่อที่บ้าน โดยจะมีการตรวจติดตามต่อเนื่องรายสัปดาห์ทางไกลผ่านการวิดีโอคอลและทางโทรศัพท์ ผลของการศึกษาจะถูกประเมินวันแรกที่เข้าร่วมการศึกษาและที่ 3 เดือนภายหลังเข้าร่วมการศึกษา ซึ่งได้แก่การประเมินคุณภาพชีวิตโดยแบบสอบถามอีคิวไฟว์ดีไฟว์แอล, ความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันประเมินโดยคะแนนดัชนีบาร์เทลอินเด็กซ์, คะแนนระดับความเหนื่อยขณะประเมินสมรรถภาพของผู้ป่วยโดยแบบประเมินโมดิฟาย บอร์ก สเกล และการประเมินสมรรถภาพทางกายโดยการวัดระยะทางที่ผู้ป่วยสามารถเดินได้ในระยะเวลา 6 นาที ส่วนการประเมินสมรรถภาพปอดใช้วิธีสไปโรเมตรีย์ โดยผลของการศึกษาจะถูกนำไปวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังเข้าร่วมการศึกษาในกลุ่มการศึกษาเดียวกันและเปรียบเทียบกับกลุ่มการศึกษาที่ศึกษาย้อนหลังไปยังอดีตที่ไม่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดโดยวิธีการจับคู่ทางสถิติ
ผลการศึกษา: ผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งสิ้น 15 คน ผลการศึกษาภายหลังเข้าร่วมการศึกษาครบ 3 เดือน คุณภาพชีวิต ความสามารถในการดำเนินชีวิตและผลการประเมินสมรรถภาพทางกายและปอด มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการเข้าร่วมการศึกษา อย่างไรก็ตามไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติของผลการศึกษาภายหลังเข้าร่วมการศึกษาครบ 3 เดือนเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มการศึกษาที่ศึกษาย้อนหลังไปยังอดีต ยกเว้นคะแนนคะแนนการประเมินสุขภาพทางตรงผ่านแบบสอบถามอีคิวไฟว์ดีไฟว์แอล ที่ประเมินโดยผู้เข้าร่วมการศึกษา มีแนวโน้มคะแนนที่ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่มการศึกษา 96.6±6.95 เทียบกับ 87±9.02 ในกลุ่มการศึกษาที่ศึกษาย้อนหลังไปยังอดีต
สรุปผล: ผลกระทบที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่หายจากภาวะปอดอักเสบภายหลังการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นภายหลังการเข้ารับการศึกษา โดยการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดมีแนวโน้มช่วยลดความรู้สึกเหนื่อยในผู้ป่วยกลุ่มเหล่านี้ได้ ซึ่งอาจส่งผลช่วยป้องกันความเหนื่อยล้าและอาการเหนื่อยที่เกิดขึ้นภายหลังการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระยะยาวได้