Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างผลิตภาพแรงงานและค่าจ้างระหว่างภาคของประเทศไทย การศึกษาส่วนใหญ่วิเคราะห์เพียงรายประเทศและรายสาขาการผลิตเท่านั้น ประเทศไทยยังขาดการศึกษาในรายภูมิภาค ซึ่งตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตระหว่างภาค (Multi-Regional Input-Output Table : MRIO) สามารถให้รายละเอียดข้อมูลได้ทั้งรายภูมิภาคและรายสาขาการผลิต แต่เนื่องจากตารางดังกล่าวยังขาดข้อมูลในด้าน “จำนวนแรงงาน” การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อจำแนกข้อมูลผลผลิต จำนวนแรงงาน และค่าจ้าง รายภูมิภาคและรายสาขาการผลิต โดยใช้นิยามจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตระหว่างภาค และแบ่งแรงงานเป็นประเภทมีฝีมือและไร้ฝีมือ สัดส่วนทุนต่อแรงงาน ผลิตภาพแรงงาน และค่าจ้าง 2) เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างผลิตภาพแรงงานและค่าจ้าง รายภูมิภาคและรายสาขาการผลิต 3) เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบต่อการจ้างงานรายภูมิภาคและรายสาขาการผลิต หากอุปสงค์ขั้นสุดท้าย (Final Demand) ของประเทศเปลี่ยนแปลงไป
ผลการศึกษาพบว่า ภาคตะวันออก โดยเฉพาะสาขาอุตสาหกรรมมีความสัมพันธ์ระหว่างผลิตภาพแรงงานและค่าจ้างสูง ส่วนใหญ่จะมีลักษณะของแรงงานประเภทมีฝีมือสอดรับกับสัดส่วนทุนต่อแรงงาน และเมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงอุปสงค์ขั้นสุดท้าย หากอุปสงค์ขั้นสุดท้ายเปลี่ยนแปลงไป จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานสูงใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะสาขาการปศุสัตว์เมื่อวิเคราะห์ความเชื่อมโยงไปข้างหลัง (Backward Linkage) และสาขาการทำไร่มันสำปะหลังเมื่อวิเคราะห์ความเชื่อมโยงไปข้างหน้า (Forward Linkage)