Abstract:
ปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดภาระต่อระบบสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น โดยวรรณกรรมทางเศรษฐศาสตร์ได้ระบุว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้อาจเป็นปัจจัยหนี่งที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตได้ หากแต่ทิศทางของความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และปัญหาสุขภาพจิตยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์หลักในการทำความเข้าใจทิศทางและกลไกของความสัมพันธ์ระหว่างความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และสุขภาพจิต การวิเคราะห์ใช้ข้อมูลพาเนลในระดับประเทศ จากแหล่งข้อมูล 3 แหล่งหลัก ได้แก่ World Development Indicators, Global Burden of Disease และ World Values Survey และกำหนดสมมติฐานว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตทั้งทางตรงและทางอ้อม ในด้านผลกระทบทางอ้อม ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ส่งผลกระทบผ่านตัวแปรคั่นกลาง 3 ตัวแปร ได้แก่ ความมั่งคั่ง สุขภาพกาย และการมีส่วนร่วมทางสังคม ระเบียบวิธีวิจัย คือ การวิเคราะห์ผ่านตัวกลาง (mediation analysis) โดยใช้แบบจำลอง seemingly unrelated regression ผลการศึกษาพบว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ส่งผลต่อสุขภาพจิตทั้งทางตรงและทางอ้อม ในภาพรวม ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ส่งผลให้ปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ปัจจัยคั่นกลางทั้งหมดส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิต โดยสุขภาพกายมีความสำคัญมากที่สุด ตามด้วยความมั่งคั่ง และการมีส่วนร่วมทางสังคม ตามลำดับ ผลการศึกษาดังกล่าวนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของแต่ละพื้นที่และส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ยังมีข้อจำกัดด้านข้อมูลและระเบียบวิธีวิจัยที่อาจพัฒนาต่อได้ในการศึกษาครั้งต่อไป