Abstract:
อาชญากรรมตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ หลักฐานเชิงประจักษ์ในงานวิจัยจำนวนมากในต่างประเทศ พบว่าการตอบสนองของการเกิดอาชญากรรมจะส่งผลแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่และประเภทของอาชญากรรม การใช้นโยบายปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอาจส่งผลกระทบต่อแรงงานในหลายด้าน การมีนโยบายปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยจะส่งผลต่อการเกิดอาชญากรรมไปในทิศทางใด งานวิจัยในครั้งนี้จึงมุ่งที่จะศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2550 ถึงปี พ.ศ. 2562 การศึกษาครั้งนี้จะวิเคราะห์โดยใช้สมการถดถอยด้วยวิธีกำลังสองน้อยที่สุดแบบ Fixed Effects ในข้อมูลแบบช่วงยาว (Panel Data) รายจังหวัด และจำแนกประเภทอาชญากรรมออกเป็น 5 ประเภท โดยใช้แบบจำลองอุปทานของอาชญากรรม (Supply of Crime Model)
ผลการศึกษาพบว่า การใช้นโยบายปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำนั้นไม่ได้ช่วยลดการเกิดอาชญากรรมในทุกประเภท แต่กลับพบว่าการมีจำนวนแรงงานที่มีชั่วโมงการทำงานเพิ่มมากขึ้นนั้นจะช่วยลดการเกิดอาชญากรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน อาชญากรรมที่เกี่ยวกับยาเสพติด และอาชญากรรมรวมได้ เนื่องจากผลกระทบที่เกิดจากการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำนั้นค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ว่างงานแล้วต่อมาได้ทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ในส่วนนี้จึงอาจจะส่งผลให้พฤติกรรมของแรงงานนั้นเปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงการกระตุ้นการท่องเที่ยวยังสามารถลดการเกิดอาชญากรรมได้เช่นกัน