Abstract:
ย่านเมืองเก่าภูเก็ตเป็นย่านที่มีอาคารที่มีคุณค่าในการอนุรักษ์อยู่มาก ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเป็นย่านท่องเที่ยวมากขึ้น มีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่พักนักท่องเที่ยวเกิดขึ้นมากถึง 31 แห่ง โดยเป็นที่พักประเภทเกสต์เฮ้าส์ที่พัฒนาโดยผู้ประกอบการที่เป็นคนในพื้นที่มากถึง 9 แห่ง พัฒนาในอาคาร 2 รูปแบบ คือ ในอาคารที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ และในอาคารที่สร้างใหม่ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ในการศึกษาแนวทางการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทเกสต์เฮ้าส์ โดยศึกษา กระบวนการพัฒนา ปัญหาอุปสรรค และผลการดำเนินงาน วิเคราะห์ข้อดีข้อจำกัดและสรุปบทเรียนจากการพัฒนาในอาคารทั้งสองรูปแบบ ด้วยวิธีการ ศึกษาเอกสาร การสำรวจพื้นที่และอาคาร การสัมภาษณ์ผู้ประกอบการและเข้าพักสังเกตการณ์ ในกรณีศึกษา 4 กรณี โดยเป็น กรณีศึกษาที่พัฒนาในอาคารที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ 2 กรณีศึกกษาและในอาคารที่สร้างใหม่ 2 กรณีศึกษา
ผลจากการศึกษาการพัฒนาโครงการ 4 กรณีศึกษา พบว่า 1) การพัฒนาในอาคารที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ เป็นการนำเอาอาคารเก่ามาดัดแปลงเป็นที่พัก จึงทำในพื้นที่ที่มีอย่างจำกัด โดยการก่อสร้างต้องระมัดระวังให้กระทบกับตัวอาคารเก่าน้อยที่สุดและต้องมีการเสริมโครงสร้างเหล็กให้กับอาคารเก่าเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้เหมาะสมกับการใช้งาน ผลที่เกิดขึ้นคือมีจำนวนห้องพักน้อย รูปด้านอาคารมีความสอดคล้องกับความเป็นย่านเมืองเก่า มีความสวยงามซึ่งเป็นผลมาจากเสน่ห์เฉพาะตัวของอาคารที่เลือกมาพัฒนา ในด้านการลงทุน เป็นการเช่าที่ดินและอาคารมาดำเนินการ โครงการใช้งบประมาณในการลงทุนไม่สูง ระยะเวลาการดำเนินการพัฒนาโครงการสั้น และระยะเวลาการคืนทุนเร็ว 2) การพัฒนาในอาคารที่สร้างใหม่ ทำการพัฒนาบนที่ดินที่เป็นเจ้าของ โดยการสร้างอาคารขึ้นใหม่อย่างเต็มประสิทธิภาพที่ดิน โดยได้ศึกษากฎหมายและข้อกำหนดของย่านเมืองเก่าภูเก็ตอย่างละเอียด และดำเนินการโดยได้รับการยินยอมจากบ้านข้างเคียงก่อนการก่อสร้าง การก่อสร้างโครงการ มีการวางผังอาคาร โดยการแบ่งอาคารออกเป็นหลายหลังและทำทางเชื่อมเพื่อรวมเป็นอาคารเดียว เพื่อให้สะดวกในการก่อสร้างอาคารในที่แคบและเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกฎหมาย โดยระมัดระวังไม่ให้เกิดผลกระทบกับอาคารข้างเคียง ผลที่ได้คือ มีจำนวนห้องพักมาก ส่วนรูปด้านอาคารจะมีความสอดคล้องกับความเป็นย่านเมืองเก่าหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์ของผู้ประกอบการและผู้ร่วมพัฒนาโครงการ ในการเห็นคุณค่าของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของย่านเมืองเก่า ในด้านการลงทุน ใช้งบประมาณในการลงทุนสูง ระยะเวลาการดำเนินการพัฒนาโครงการยาวนาน และระยะเวลาคืนทุนช้ากว่าแบบที่พัฒนาในอาคารที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ การเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน จึงทำให้สามารถประกอบการได้ในระยะยาว
ผลการศึกษาสรุปได้ว่า กระบวนการการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทเกสต์เฮ้าส์ในย่านเมืองเก่าภูเก็ต 2 แนวทาง ซึ่งมีข้อดีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ทั้งในระยะก่อนการก่อสร้าง ระหว่างการก่อสร้าง หลังการก่อสร้าง และการลงทุนโครงการ จึงมีข้อเสนอแนะว่า 1) ผู้ที่สนใจลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทเกสต์เฮ้าส์ในย่านเมืองเก่าภูเก็ตควรศึกษาแนวทางการพัฒนาในอาคารทั้งสองรูปแบบก่อนการตัดสินใจลงทุน 2) ผู้ประกอบการควรมีความเข้าใจในกระบวนการพัฒนาอสังอสังหาริมทรัพย์และวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของตนเองอย่างดีก่อนการพัฒนา และ 3) ควรมีการจัดตั้งกลุ่มหรือชมรมนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่พักนักท่องเที่ยวของย่านเมืองเก่าภูเก็ต ร่วมกำหนดแนวทางและกฎเกณฑ์การพัฒนาที่เหมาะสม เพื่อสามารถดำรงรักษาอัตลักษณ์ของย่านเมืองเก่าภูเก็ตให้คงอยู่