Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะสังคมเศรษฐกิจ ลักษณะทางกายภาพโครงการคอนโดมิเนียมและปัจจัยการตัดสินใจของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการเลือกซื้อหรือเช่าโครงการคอนโดมิเนียมโดยการรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างจากนิสิตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปีการศึกษา 2561 จำนวน 401 คน นำมาวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มนิสิตผู้ซื้อและกลุ่มนิสิตผู้เช่า พบว่ามีสัดส่วนซื้อมากกว่า คิดเป็นร้อยละ 53 และกลุ่มนิสิตผู้เช่า 47 ตามลําดับ ส่วนใหญ่เป็นนิสิตชั้นปริญญาตรี เพศหญิง กลุ่มนิสิตผู้ซื้อ ด้านภูมิลําเนาเดิมพบว่านิสิตที่เลือกโครงการในกรุงเทพมหานครชั้นในมีภูมิลําเนาเดิมในกรุงเทพมหานครเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งต่างจากกลุ่มนิสิตในเขตกรุงเทพมหานครชั้นกลางและปริมณฑลที่มีภูมิลําเนามาจากต่างจังหวัด โดยประเภทที่อยู่อาศัยเดิมส่วนใหญ่คือ บ้าน ด้านรายได้ครัวเรือนของผู้ปกครอง กลุ่มนิสิตที่อยู่ในโครงการเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน พบว่าผู้ปกครองมีรายได้ต่อเดือน มากกว่า 150,000 บาท กลุ่มนิสิตผู้เช่า พบว่านิสิตส่วนใหญ่มีภูมิลําเนามาจาก ต่างจังหวัด ด้านรายได้ครัวเรือนของผู้ปกครองพบว่าส่วนใหญ่ผู้ปกครองมีรายได้ต่อเดือนคือ 50,001-100,000 บาท โดยมีค่าเช่าสำหรับคอนโดมิเนียมต่อเดือนส่วนใหญ่คือ 15,001-20,000 ด้านทําเลที่ตั้งของโครงการที่ตั้งโครงการอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในพบนิสิตอยู่อาศัยมากที่สุด ได้แก่ เขต บางรัก เขตราชเทวี และพญาไท ขนาดห้องพักส่วนใหญ่คือ 21-30 ตารางเมตร แบบ 1 ห้องนอน กลุ่มนิสิตทั้งผู้ซื้อและนิสิตผู้เช่า ที่อาศัยอยู่ในเขตบางรัก ซึ่งเป็นทําเลที่ตั้งที่ใกล้กับมหาวิทยาลัย จะใช้วิธีการเดินมายังมหาวิทยาลัย และนิสิตในโครงการอื่นๆในพื้นที่ไกลออกไปจะใช้รถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดินเพื่อมายังมหาวิทยาลัย จากการศึกษาปัจจัยในการเลือกโครงการคอนโดมิเนียมของนิสิตในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล นิสิตและผู้ปกครองต้องการความปลอดภัยให้แก่บุตรหลาน โดยพบว่า ทำเลที่ตั้งของโครงการเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่สุด โดยทำเลดังกล่าวต้องมีความสะดวกต่อการเดินทาง ใกล้สถาบันการศึกษาและมีความปลอดภัย โดยรายได้ครัวเรือนของผู้ปกครองเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเลือกทำเลที่ตั้งของโครงการ กรรมสิทธิ์ห้องพัก รวมถึงระดับของโครงการ
สรุปการศึกษา เสนอแนะแนวทางควรมีการวางแผนจัดเตรียมพัฒนาและเพิ่มเติมที่พักอาศัยเพื่อรองรับสำหรับกลุ่มนิสิตเหล่านี้ ควรให้ความสำคัญกับลักษณะโครงการที่ต้องมีภาพลักษณ์ที่ดีและมีความปลอดภัย และหึความสำคัญทางด้านสิ่งอำนวยความสะดวกอาทิเช่น ร้านอาหารและร้านสะดวกซื้อ พื้นที่ Co-Working space และสวนย่อมเพื่อการใช้ชีวิตอยู่อาศัยระหว่างการศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ผู้เรียน การศึกษาครั้งนี้เพื่อให้เป็นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ร่วมถึงผู้บริหารสถานศึกษา เป็นแนวทางในการสร้างกลยุทธ์และการตัดสินใจในการลงทุนประเภทที่พักอาศัยโครงการคอนโดมิเนียมสอดคล้องความต้องการในปัจจุบัน