Abstract:
หลังจากมีประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มีการตั้งคำถามมากมายโดยเฉพาะความเหมาะสมของประกาศแนบท้ายการประกอบพื้นที่เกษตร กำหนดเพียงอัตราส่วนพื้นที่ต่อจำนวนชนิดต้นไม้ 57 ชนิด ทำให้เจ้าของที่ดินแผ้วถางที่เพื่อปลูกพืชเช่นกล้วยและมะนาวแทน ในมาตรา 37 วรรคหก กำหนดให้คณะกรรมการของแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีตามความเหมาะสมของบริบทด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของพื้นที่นั้นได้ ในงานวิจัยนี้ ได้ศึกษาบริบทพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีความเป็นเมืองมากกว่าชนบท รวมถึงมีมาตรการผังเมือง แผนพัฒนาพื้นที่เฉพาะในหลายด้าน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับประโยชน์ของเกษตรในเมือง โดยมีปัจจัย 3สิ่งต้องคำนึงถึง คือ พื้นที่ตั้ง วัตถุประสงค์ และกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรในเมือง โดยงานวิจัยนี้สามารถเสนอแนะสาระสำคัญการประกอบพื้นที่เกษตรในเมือง ในกรุงเทพมหานครคือ พื้นที่ 3 กลุ่มเขตชั้นในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลหรือพื้นที่นิติบุคคล มีวัตถุประสงค์การใช้พื้นที่เพื่อการปลูก การเลี้ยงดู การทำให้เพิ่มพูน การนำเข้าสู่กระบวนการที่เกี่ยวข้องอย่างการเพิ่มมูลค่า และการกระจายผลผลิตที่เป็นอาหาร รวมถึงผลผลิตที่ไม่ใช่อาหารอย่างพืชที่เป็นยาสมุนไพร รวมถึงการใช้และนำกลับมาใช้ใหม่ของทรัพยากร ผลิตภัณฑ์ และการบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเหล่านั้น การเสนอสาระสำคัญในข้อบัญญัติเกษตรในมืองในกรุงเทพมหานครเพิ่มเติมการลดหย่อนภาษีตามมาตรการส่งเสริมการพัฒนา โดยใช้กระบวนการลำดับชั้นเชิงวิเคราะห์ คำนวณเพื่อลำดับคะแนนกิจกรรมที่สอดคล้องกับเมือง กิจกรรมที่สอดคล้องสูงสุดได้แก่ การปลูกพืช การฝึกอาชีพ อบรมผู้นำ รวมกลุ่มแม่บ้าน ขายผลิตภัณฑ์ชุมชน และอบรมการจัดการเกษตรในเมือง