Abstract:
ภูมิทัศน์ถนน (Street Scape) เป็นคุณลักษณะทางกายภาพสำคัญที่แสดงเอกลักษณ์ของเมืองๆนั้น ให้ผู้คนได้เข้าใจสภาพความเป็นอยู่ ตลอดจนวิถีชีวิต วัฒนธรรมที่สอดคล้องกันกับผู้อาศัยในเมืองนั้นๆ ซึ่งแต่เดิมสยามประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น นครเวนิสตะวันออก ที่ใช้เรือเป็นพาหนะขนส่งหลัก แต่หลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty) ในปี พ.ศ. 2399 ถนนเริ่มมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยมีองค์ประกอบภูมิทัศน์ถนนที่สำคัญ ได้แก่ อาคารทางประวัติศาสตร์ ต้นไม้ ทางเท้า ที่ว่าง กิจกรรมของชุมชน ฯลฯ เมื่อเวลาผ่านไปความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ถนนในย่านเมืองเก่า ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยของกฎระเบียบภายในพื้นที่เมืองเก่า ปรากฎการณ์ของเจนตริฟิเคชัน (gentrification) รวมทั้งการมาถึงของโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค ที่ใช้แนวคิดการพัฒนาเมืองโดยอาศัยสถานีรถไฟฟ้าเป็นจุดศูนย์กลาง คือโครงการการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าหรือทีโอดี (Transit Oriented Development : TOD) มีจุดมุ่งหมายสำคัญที่ช่วยให้คนหันมาใช้รถน้อยลงในการเดินทาง เพิ่มการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ส่งเสริมการเดินและใช้จักรยาน จากการศึกษาพื้นที่โดยรอบสามสถานีรถไฟฟ้า ได้แก่ สนามไชย สามยอด และวัดมังกร พบรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ถนน แบ่งเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ถนนในทางกายภาพอย่างเดียว 2) การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรม และ 3) การเปลี่ยนแปลงพื้นที่เชิงโครงสร้างให้กลายเป็นอาคารสถานีรถไฟฟ้าและอาคารระบายอากาศ (IVS: intervention station) ปัจจัยที่ส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบหลักๆ ได้แก่ ปัจจัยข้อกำหนดต่างๆในเกาะรัตนโกสินทร์ และปัจจัยจากสถานีรถไฟฟ้าและทีโอดี โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ถนนที่มีผลมาจากปัจจัยเจนตริฟิเคชัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพทั้งรูปแบบอาคาร ที่มีผลมาจากการก่อสร้างบนพื้นที่เดิม และกิจกรรมภายในพื้นที่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ถนน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบอาคาร ที่ว่าง และกิจกรรม