Abstract:
โรงพยาบาลหลายแห่งมีการต่อขยายเพื่อเพิ่มพื้นที่และสมรรถภาพในการรักษาพยาบาล ซึ่งการต่อขยายมักไม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้โรงพยาบาลยิ่งมีความซับซ้อนและไม่เป็นเอกภาพ อีกทั้งผู้มารับบริการจากโรงพยาบาลส่วนใหญ่มีความบกพร่องเนื่องจากความเจ็บป่วยที่ส่งผลต่อความสามารถในทุกด้าน รวมถึงการค้นหาเส้นทางด้วย มีงานวิจัยที่พบว่าการค้นหาเส้นทางในโรงพยาบาลมีความลำบาก ซับซ้อนและส่งผลต่อคุณภาพการรักษาพยาบาล ดังนั้นการพัฒนาระบบนำทางที่เหมาะสมด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ จะสามารถเป็นตัวช่วยให้ผู้มารับบริการสามารถค้นหาเส้นทางในโรงพยาบาลได้ง่ายมากขึ้น
การศึกษานี้เป็นเชิงสำรวจ (Survey Research) ที่มีวัตถุประสงค์คือเพื่อศึกษาอิทธิพลของป้ายและเส้นทางเดินต่อความคิดเห็นและการค้นหาเส้นทางของผู้ใช้งาน การศึกษาประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) ศึกษาอิทธิพลของลักษณะป้ายต่อความคิดเห็นของผู้ใช้งาน และ 2) ศึกษาอิทธิพลของลักษณะเส้นทางเดินต่อการค้นหาเส้นทางของผู้ใช้งาน ดำเนินการศึกษาโดยเก็บรวบรวมข้อมูลลักษณะกายภาพ คือ ป้ายและเส้นทางเดิน และใช้แบบสอบถามเก็บข้อมูลความคิดเห็นต่อป้ายและพฤติกรรมการค้นหาเส้นทางของผู้ใช้งาน จากนั้นนำมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์โดยใช้สถิติทดสอบ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือผู้ที่มารับบริการทางการแพทย์ ณ ห้องตรวจโรคอายุรกรรม ซึ่งอยู่ภายในอาคารผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลกรณีศึกษา
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ความแตกต่างของของป้ายและเส้นทางเดินมีอิทธิพลต่อความคิดเห็นและการค้นหาเส้นทางของผู้ใช้งาน ในส่วนสีของป้าย พบว่าการใช้ตัวหนังสือสีขาวบนพื้นหลังสีส้มและตัวหนังสือสีดำบนพื้นหลังสีเหลืองยังคงเป็นคู่สีที่เหมาะสม และพบว่าป้ายที่ใช้สีพื้นหลังสีเหลืองและสีส้มซึ่งเป็นสีโทนร้อนชัดเจนกว่าป้ายที่ใช้สีพื้นหลังสีฟ้าซึ่งเป็นสีโทนเย็น ในส่วนขนาดตัวอักษรพบว่าสำหรับป้ายบอกทาง ขนาดตัวอักษรภาษาไทยแนะนำให้มีขนาดไม่น้อยกว่า 4 เซนติเมตร ที่ระยะติดตั้งสูงจากพื้น 1.5 เมตร และพบว่าจำนวนข้อมูลบนป้ายที่เหมาะสมคือ 5-7 ข้อมูล/ป้าย และไม่ควรเกิน 10 ข้อมูล/ป้าย ในส่วนของป้ายที่เป็นประโยชน์ในการค้นหาเส้นทาง การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าป้ายที่สื่อสารด้วยข้อความเป็นประโยชน์มากกว่าป้ายที่สื่อสารด้วยรูปภาพ สำหรับลักษณะเส้นทางเดิน ผลชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้เส้นทางเดินจะมีลักษณะตรงและมีระยะทางสั้น แต่อาจสร้างความสับสนให้แก่ผู้ใช้งานได้ หากระหว่างเส้นทางมีการใช้สอยพื้นที่อย่างหนาแน่น ซึ่งส่งผลต่อจำนวนป้ายและข้อมูลข่าวสารให้มีความหนาแน่นด้วยเช่นกัน