Abstract:
ประเทศไทยมีนโยบายในการพัฒนาประเทศเพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจ โดยการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง 12 ประเภท เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต โดยจัดทำแผนเพื่อส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มดังกล่าวขึ้น อาทิเช่น มาตรการการส่งเสริมการลงทุน การจัดทำแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) นั้นจัดอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย สัมพันธ์กับข้อเท็จจริงที่ว่าปัจจุบันมีการพัฒนาทคโนโลยีในการรักษาคุณภาพชีวิตของมนุนย์ให้มีชีวิตยืนยาว ประกอบกับประเทศไทยเป็นปลายทางของนักท่องเที่ยวและคนไข้ เนื่องด้วยข้อได้เปรียบเรื่องราคา การบริการที่ดี รวมทั้งคุณภาพของบุคลากร โดยเฉพาะแพทย์ทางเลือกและการดูแลฟื้นฟู รวมทั้งบริการต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร มีแนวโน้มการลงทุนในอนาคตสูง
รัฐบาลนำโดยกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมทางแพทย์ นำมาสู่การจัดทำแผนงานโครงการและมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ก่อให้เกิดการจัดตั้งศูนย์การแพทย์ครบวงจร ในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการให้บริการของกลุ่มเป้าหมาย ดังเช่น กรณีศึกษาทั้งสองแห่งของการวิจัย ได้แก่ เขตส่งเสริมศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ พัทยา และโครงการยกระดับท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก
จากข้างต้นจึงนำมาสู่การศึกษาโอกาสและข้อจำกัดของการพัฒนาศูนย์การแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) โดยศึกษาข้อมูลแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง งานวิจัยอื่นๆ และศึกษาแนวทางการดำเนินโครงการของกรณีศึกษาทั้งสองแห่ง โดยวิเคราะห์ที่ตั้งการใช้ที่ดิน รวมทั้งนโยบาย กฎหมายข้อบังคับต่างๆ นำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูล ผนวกกับการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เกี่ยวข้องทั้งในด้านการดำเนินการโครงการศูนย์การแพทย์ ด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ และด้านกฎหมายหรือมาตรการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ จากการศึกษา พบว่า การดำเนินโครงการศูนย์การแพทย์ครบวงจรนั้น จะต้องมีปัจจัยสนับสนุน คือ พื้นที่โครงการจะต้องมีศักยภาพในเรื่องที่ตั้งและโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ เช่น สถาบันการศึกษาและสถานพยาบาลที่มีการรองรับการให้บริการด้านการแพทย์ การเข้าถึงพื้นที่ ปัจจัยดึงดูดด้านการท่องเที่ยวโดยรอบเพื่อผนวกร่วมกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมทั้งปัจจัยส่งเสริมด้านกฎหมาย เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุน มาตรการทางผังเมือง เป็นต้น ทั้งนี้ในการดำเนินการโครงการเนื่องด้วยเป็นโครงการขนาดใหญ่ จะต้องมีการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนโครงการในภาพรวม ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง และภาครัฐที่จะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และจัดการข้อจำกัดและสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุน และกลุ่มวิชาการ รวมถึงบุคลากรที่มีคุณภาพที่รองรับการให้บริการในพื้นที่