Abstract:
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ช่วงต้นเดือนเมษายน พ.ศ.2564 ลามไปทั่วกรุงเทพมหานคร โดยชุมชนแออัดถือเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนช่วยเหลือชุมชนโดยพบว่า ชุมชนบ้านครัวได้รับผลกระทบอย่างหนักแต่เป็นหนึ่งในชุมชนที่มีการบริหารจัดการชุมชนได้อย่างดี วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการถอดบทเรียนกระบวนการบริหารจัดการชุมชนบ้านครัวในช่วงของการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยศึกษาลักษณะของชุมชนบ้านครัว ก่อนการแพร่ระบาดและศึกษาผลกระทบเมื่อเกิดการแพร่ระบาด โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษาข้อมูลจากเอกสารสิ่งพิมพ์ และการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างกับผู้นำชุมชน อาสาสมัคร และสมาชิกชุมชนทั่วไป และผู้เชี่ยวชาญตัวแทนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
ผลการศึกษาผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม 2564 แบ่งออกได้เป็น 5 ระยะ โดยมีผู้ติดเชื้อรวมทั้งหมด 382 ราย และผู้เสียชีวิต 18 ราย จากสภาพทางกายภาพที่มีการอยู่อาศัยอย่างแออัดทำให้เกิดการแพร่เชื้อโควิด-19 อย่างรวดเร็ว โดยทางด้านเศรฐกิจมีผู้ได้รับกระทบโดยขาดรายได้ ทางสังคมเกิดการงดการรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางศาสนา โดยชุมชนบ้านครัวมีกระบวนการจัดการวิกฤติโควิด-19 แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1.กิจกรรมที่เกิดจากการรวมกลุ่มของชุมชนเองได้แก่ 1) การจัดตั้งครัวชุมชนแจกจ่ายอาหารและสิ่งของที่จำเป็น 2) การประกาศปิดทางเข้าออกชุมชนคัดกรองผู้เสี่ยงติดเชื้อ 3) การจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัคร ร่วมกับ กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์พัฒนาบ้านครัว เพื่อช่วยเหลือตนเอง 2.ชุมชนบ้านครัวมีการประสานงานและได้รับความช่วยเหลือและงบประมานจากหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรเอกชนที่ทำให้เกิดกิจกรรม คือ 1) การสอบสวนโรคเพื่อหาจุดเสี่ยงและทำความสะอาดที่อยู่อาศัย 2) การจัดประชุมออนไลน์เพื่อให้ความรู้ 3) การวิเคราะห์ผังชุมชนที่เป็นจุดด้อย 4) การเข้าร่วมส่งผู้ป่วยกักตัวที่ศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด-19 พาณิชยการเจ้าพระยา 5) การนัดตรวจโควิดเชิงรุกผู้อาศัยบ้านครัว 6) การจัดตั้งศูนย์ประสานงานในชุมชน
บทเรียนเความสำเร็จด้วยปัจจัยต่าง ๆ คือ 1) เป็นชุมชนเข้มแข็ง ที่มีประวัติการต่อสู้มายาวนาน และผ่านกระบวนการบ้านมั่นคงจึงมีความพร้อมทั้งด้านข้อมูลและการจัดการตนอง 2) แกนนำชุมชนมีความเข้มแข็งและได้รับความร่วมมือจากสมาชิกในชุมชน 3) ชุมชนสามารถสื่อสารความต้องการ เปิดรับและคัดสรรความร่วมมือจากภาคีต่างๆอย่างเหมาะสม โดยมีคนในชุมชนเป็นกำลังหลักในการจัดการ 4) ความจำเป็นในการจัดการอาหารฮาลาลด้วยชุมชนเอง เพิ่มความเข้มแข็งชุมชน 5) การเกิดกิจกรรมการจัดการด้านกายภาพของบ้านและชุมชนร่วมกับภาคีในการออกแบบด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม
ข้อเสนอแนะชุมชนผู้มีรายได้น้อยเมื่อเกิดวิกฤตในอนาคต ครัวเรือนควรมีการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้มีการเปิดระบายอากาศและแสงเข้าถึงได้มากขึ้นและปรับปรุงห้องน้ำให้ใช้งานได้อย่างถูกสุขลักษณะ ชุมชนควรมีการจัดพื้นที่เพื่อจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อเป็นพื้นที่ให้กลุ่มอาสาสมัครใช้ในการประสานงานช่วยเหลือ ควรมีการจัดกิจกรรมทางด้านอาหารเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนและป้องกันการแพร่ระบาด รวมถึงเป็นการเสริมสร้างพลังแก่ชุมชน ข้อเสนอต่อหน่วยงานภายนอก ควรมีการทำงานด้วยข้อมูลพื้นฐานที่ถูกต้อง และมีความเชื่อมโยงประสานกันระหว่างแต่ละหน่วยงาน ข้อเสนอแนะต่อผู้กำหนดนโยบายในการบริหารจัดการชุมชนเมื่อเกิดภาวะวิกฤติในอนาคต คือควรมีการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานอย่างครบถ้วน เพื่อนำไปใช้ในการออกนโยบายและนำนโยบายมาสู่การปฏิบัติให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชน ที่มีทุนมนุษย์และทุนสังคมที่แตกต่างกัน และควรสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพ (Health Literacy) ให้กับทุกชุมชนเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันทางสังคม