Abstract:
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา นครปากเซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปกคลุมดินในเมือง รวมถึงการขยายตัวของเมืองอย่างไร้ทิศทาง ที่อาจสร้างปัญหาต่อคุณภาพชีวิตของประชากรและสิ่งแวดล้อมของเมืองในอนาคต งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพลวัตของการใช้ประโยชน์ที่ดินของเมืองในนครปากเซ และศึกษาปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการขยายตัวของเมืองในระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา โดยการวิเคราะห์ใช้ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินจากภาพถ่ายดาวเทียมปี 2000, 2010 และ 2020 โดยใช้แบบจำลองมาร์คอฟ (Markov Model) ในซอฟต์แวร์ TerrSet 2020 ตรวจสอบรูปแบบการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปกคลุมดินใน 3 ช่วงเวลา ได้แก่ ปี 2000-2010, 2010-2020 และ 2000-2020 นอกจากนั้นยังวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวของเมืองด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกเจ้าหน้าที่จากกรมโยธาธิการและการขนส่งระดับแขวง ระดับเมือง และ อาจารย์ที่สอนในมหาวิทยาลัยจำปาสัก ผลการวิจัยพบว่าพื้นที่ป่าไม้มีความน่าจะเปลี่ยนเป็นพื้นที่ประเภทเบ็ดเตล็ดมากที่สุด รองลงมาคือพื้นที่เกษตรกรรม ส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่เกษตรกรรมมีพื้นที่ลดลงมากกว่าที่ดินประเภทอื่น โดยในช่วงปี 2000-2020 มีการสูญเสียพื้นที่ป่าไป 93.4 ตร.กม. (ร้อยละ 18.60) และพื้นที่เกษตรกรรมลดลง 1.49 ตร.กม. (ร้อยละ 0.26) ส่วนพื้นที่เบ็ดเตล็ดเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเพิ่มขึ้น 74.96 ตร.กม. (ร้อยละ 14.87) รองลงมาเป็นพื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้างมีพื้นที่เพิ่มขึ้น 18.04 ตร.กม. (ร้อยละ 3.61) สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้นครปากเซขยายตัวไปทางทิศตะวันออกมากที่สุดมี 5 ปัจจัยสำคัญได้แก่ (1) ปัจจัยด้านความใกล้เขตการศึกษา (ใกล้เขตมหาวิทยาลัย) (2) ปัจจัยด้านความใกล้เส้นทางสายหลัก (3) ปัจจัยด้านภูมิประเทศที่ไม่เสี่ยงต่อภัยน้ำท่วมที่เกิดจากแม่น้ำโขง และแม่น้ำเชโดน (4) ปัจจัยด้านนโยบาย และแผนการพัฒนาเมืองที่ภาครัฐกำหนด และ (5) ปัจจัยด้านความใกล้เขตอุตสาหกรรม โดยผลการวิจัยจะสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับนักวางแผนและนักพัฒนาเมือง รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาพื้นที่เมืองอย่างยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม