Abstract:
แบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Building Information Modelling: BIM) เป็นกระบวนการในการสร้างและจัดการข้อมูลตัวแทนดิจิทัล (digital representation) ของสินทรัพย์ตลอดวงจรชีวิต งานวิจัยนี้มุ่งเน้นการศึกษาในช่วงการวางแผนและออกแบบซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการจัดเตรียม BIM โดยมีเอกสารข้อตกลง คือ ขอบเขตของงาน (Terms of Reference: TOR) จากกระบวนการทำงานของ BIM ส่งผลให้ TOR มีลักษณะเฉพาะตัวและจำเป็นต้องมีข้อกำหนดเพิ่มเติม จึงนำมาสู่การศึกษาข้อกำหนดเกี่ยวกับ BIM ใน TOR จ้างออกแบบเพื่อเป็นแนวทางการนำ BIM ไปใช้ในขอบเขตของการจ้างงานออกแบบสำหรับโครงการอาคารหน่วยงานของรัฐ
จากการศึกษาพบว่า เอกสาร TOR โครงการของรัฐยังขาดการระบุรายละเอียดสำหรับ BIM องค์ประกอบของข้อกำหนดข้อมูล (Information Requirements) ที่สำคัญสำหรับ BIM ได้แก่ การใช้ประโยชน์ BIM (BIM Uses), กำหนดการ (Schedule), มาตรฐาน (Standard), การสื่อสาร (Communication), เทคโนโลยี (Technology), โครงสร้างแบบจำลอง (Model Structure), ทีมปฏิบัติงาน BIM (BIM Team), การประชุมโครงการ (Project Meeting) และการควบคุมคุณภาพ (Quality Control) โดยสามารถจำแนกรูปแบบของ TOR โครงการกรณีศึกษาตามจำนวนองค์ประกอบข้างต้นได้ 4 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ไม่มีการกำหนดเพิ่มเติม รูปแบบที่มีการระบุ 1, 2 และ 6 องค์ประกอบ จากการสัมภาษณ์เจ้าของโครงการ ผู้ออกแบบ และผู้เชี่ยวชาญด้าน BIM พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อการวางแผนและออกแบบโครงการที่ใช้ BIM ได้แก่ ปัจจัยด้านความเข้าใจเกี่ยวกับ BIM ปัจจัยด้านการนำ BIM ไปปฏิบัติ และปัจจัยด้านเทคนิคและทรัพยากร ผลการวิจัยสรุปได้ว่าโครงการที่แนะนำให้กำหนดใช้ BIM คือ โครงการที่อาคารมีความซับซ้อน ซับซ้อนมาก ขนาดใหญ่ หรือขนาดใหญ่พิเศษ เพื่อให้สามารถนำ BIM ไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ โดยมีขั้นตอนดังนี้ 1) กำหนดจุดประสงค์และการใช้ประโยชน์ BIM 2) กำหนดรายละเอียดข้อมูล ด้วยการระบุมาตรฐานในการสร้างแบบจำลอง 3) กำหนดโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการใช้งาน BIM ในการควบคุมคุณภาพ สำหรับการกำหนดองค์ประกอบอื่นๆ ขึ้นอยู่กับทรัพยากรและจุดประสงค์ในการนำ BIM ไปใช้ประโยชน์ของโครงการ