Abstract:
ปัจจุบันมีธุรกิจจำนวนไม่น้อยหันมาทำวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise: SE) เพื่อมุ่งประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม การนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้กับการดำเนินงานที่พักนักท่องเที่ยวยังอยู่ในวงจำกัด แม้จะเป็นธุรกิจที่มีโอกาสสร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้มาก วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาการนำแนวคิดวิสาหกิจเพื่อสังคมมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน 2 กรณีศึกษา คือ ชุมพรคาบาน่า รีสอร์ต และโรงแรมสวนสามพราน ใช้วิธีรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิ การสำรวจพื้นที่ และการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลหลัก ได้แก่ ผู้ประกอบการของที่พักนักท่องเที่ยวแต่ละกรณี ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง 5 คนต่อกรณีศึกษา และนักท่องเที่ยว 20 คนต่อกรณีศึกษา ใช้การวิเคราะห์ผลในเชิงเปรียบเทียบ แสดงองค์ประกอบและความสัมพันธ์ของการพัฒนาโครงการเพื่อสังคม รวมถึงสรุปบทเรียนจากกรณีศึกษา
ผลการศึกษา พบว่า 1) ผู้ประกอบการของกรณีศึกษาทั้ง 2 แห่ง ได้ใช้รูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นแนวทางหลักในการดำเนินงานโครงการที่พักนักท่องเที่ยวเหมือนกัน แม้ว่าจะมีจุดเริ่มต้นในการพัฒนาต่างกัน คือ ชุมพรคาบาน่า รีสอร์ต นำแนวคิดมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สิน ขณะที่โรงแรมสวนสามพรานนำแนวคิดมาใช้เพื่อสร้างจุดขาย 2) การดำเนินงานโครงการเพื่อสังคมของทั้ง 2 แห่ง มีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ประการ คือ (1) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีบทบาทในการดำเนินงานโครงการแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจหลักรวมถึงธุรกิจเครือข่าย กลุ่มผู้รับประโยชน์ และกลุ่มผู้ให้ความสนับสนุนในด้านต่าง ๆ และองค์ประกอบอีกประการ คือ (2) กิจกรรมหลักในการดำเนินงานโครงการเพื่อสังคม 5 ด้านที่คล้ายคลึงกัน ได้แก่ การจัดการความรู้และให้ความช่วยเหลือในด้านอื่น ๆ แก่กลุ่มผู้ผลิตวัตถุดิบของธุรกิจ การรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในราคายุติธรรม การเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรผ่านผลิตภัณฑ์ของธุรกิจ การจัดหาตลาดและการกระจายสินค้าทางการเกษตร และการท่องเที่ยวที่สนับสนุนความยั่งยืน 3) การดำเนินโครงการเพื่อสังคมของกรณีศึกษาทั้ง 2 แห่ง ส่งผลกระทบใน 4 ด้าน คือ (1) ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน การกระจายรายได้ (2) ผลกระทบทางสังคม ทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน (3) ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการส่งเสริมกิจกรรมที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ (4) ผลกระทบทางธุรกิจ ทำให้เกิดสินค้าและบริการที่มีคุณค่าและเกิดมูลค่าเพิ่ม อีกทั้งยังทำให้เกิดจุดขายที่แตกต่าง
ผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินงานของที่พักนักท่องเที่ยวที่มีแนวคิดเพื่อสังคมทั้งสองกรณี มีกลไกที่สามารถสร้างผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก บทเรียนสำคัญและปัจจัยความสำเร็จคือ ผู้ประกอบการจะต้องมีแนวคิด ความตั้งใจและเข้าใจองค์ประกอบการพัฒนา สามารถวางแผนการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ และจะต้องการเปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย งานวิจัยฉบับนี้สามารถเป็นแนวทางพัฒนาแก่ผู้ประกอบการที่พักนักท่องเที่ยวที่สนใจในการใช้แนวคิดวิสาหกิจเพื่อสังคมได้