Abstract:
โครงการที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดพักอาศัยรวมที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้อง หรือมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 4,000 ตร.ม. ขึ้นไปต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยหนึ่งในหลักเกณฑ์คือ พื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความน่าอยู่ของเมือง ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การประกาศใช้การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมในปีพ.ศ. 2535 หลักเกณฑ์พื้นที่สีเขียวไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์และสภาพสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ในงานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์พื้นที่สีเขียวให้ดีขึ้น โดยกำหนดกรอบการวิจัยคือ การศึกษาโครงการอาคารชุดพักอาศัยรวมที่ผ่านการพิจารณาในปีพ.ศ. 2561 เป็นกรณีศึกษา และจัดทำข้อเสนอแนะการปรับปรุงหลักเกณฑ์พื้นที่สีเขียว
ผลการศึกษาแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ การวิจัยเชิงเอกสารพบว่า พื้นที่สีเขียวทุกประเภทสามารถทำได้เกินจากหลักเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ซึ่งสอดคล้องกับการสัมภาษณ์กลุ่มที่ปรึกษาผู้จัดทำรายงานว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดในการจัดทำพื้นที่สีเขียว คือ การทำให้ผ่านหลักเกณฑ์ขั้นต่ำ โดยไม่คำนึงว่าจะต้องเกินมากน้อยเพียงไร ซึ่งแสดงให้เห็นจากตัวเลขพื้นที่สีเขียวรวมที่หลักเกณฑ์ขั้นต่ำกำหนดไว้ 1 ตร.ม. ต่อ 1 คนนั้นมีค่าเฉลี่ยเกินเพียง 1.07 ตร.ม. ต่อ 1 คน ปัจจัยสำคัญรองลงมาคือ ชนิดพันธุ์ไม้ยืนต้น เพราะต้องนำไปคำนวณการดูดซับคาร์บอน โดยกลุ่มที่ปรึกษาขอให้กลุ่มผู้ออกแบบเลือกใช้ชนิดพันธุ์จากตารางอ้างอิงที่ถูกทำขึ้นในปีพ.ศ. 2538 และยังใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน จากการสัมภาษณ์กลุ่มผู้ออกแบบพบว่า ไม่สามารถนำชนิดพันธุ์เหล่านั้นมาใช้ได้จริง เพราะตารางอ้างอิงนี้ไม่ได้ตรวจทานเพิ่มเติมมาถึง 28 ปีแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจพบว่าชนิดพันธุ์ในเล่มรายงานไม่ตรงกับในโครงการจริง พิสูจน์ได้ว่าหลักเกณฑ์การดูดซับคาร์บอนนี้ไม่สามารถปฏิบัติจริงได้เพราะชนิดพันธุ์ที่ใช้ในการคำนวณไม่ได้นำมาใช้จริง และเมื่อรวมกับการสัมภาษณ์กลุ่มผู้เชี่ยวชาญพื้นที่สีเขียว จึงได้นำมาสู่ข้อเสนอแนะการปรับปรุงหลักเกณฑ์พื้นที่สีเขียว ได้แก่ 1) หลักเกณฑ์พื้นที่สีเขียวรวม 1 ตร.ม. ต่อ 1 คน ต้องมีข้อกำหนดหลักเกณฑ์ขั้นต่ำมากขึ้น เนื่องด้วยหลักเกณฑ์เดิมไม่เพียงพอต่อสถานการณ์การอยู่อาศัยที่มีความหนาแน่นขึ้นมากกว่า 30 ปีที่ผ่านมา 2) หลักเกณฑ์ขั้นต่ำประเภทอื่นๆ ควรถูกนำมาประเมินเพื่อให้สอดคล้องต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน 3) หลักเกณฑ์การดูดซับคาร์บอนต้องปรับปรุงให้ปฏิบัติได้จริง เพื่อให้สิ่งที่ปรากฎในเล่มรายงานส่งผลไปยังการพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นได้ต่อไป