Abstract:
ภัยพิบัติ สามารถสร้างความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สิน โดยมีภาวะโลกร้อนเป็นตัวกระตุ้นให้อัตราการเกิดภัยพิบัติเพิ่มขึ้น 5 เท่าและสร้างความเสียหายมากขึ้น 7 เท่า วิจัยเล่มนี้จึงดำเนินการศึกษาตามวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาการรับมือในสถานการณ์ภัยพิบัติ และการจัดศูนย์พักพิงชั่วคราว 2) วิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ในการดำรงชีวิตในศูนย์พักพิงชั่วคราวของผู้ประสบภัย 3) เสนอแนะแนวทางการจัดศูนย์พักพิงชั่วคราว สำหรับผู้ประสบภัยในสถานการณ์ภัยพิบัติอย่างเหมาะสม เพื่อศึกษาการเตรียมรับมือ การตอบสนองความต้องการพื้นฐานด้านที่อยู่ และผลกระทบด้านร่างกาย จิตใจและสังคม ศึกษากรณีศึกษา 3 แห่ง จากสถิติการเกิดภัยพิบัติและความช่วยเหลือด้านที่พัก โดยการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและผู้ประสบภัย ในความดูแลของศูนย์ปภ.เขต 12 สงขลา, ศูนย์ปภ.เขต 13 อุบลราชธานี และศูนย์ปภ.เขต 18 ภูเก็ต จำนวน 30 คน พร้อมลงพื้นที่สำรวจศูนย์พักพิงชั่วคราว
ประเทศไทย มีความได้เปรียบด้านที่ตั้ง จากความอุดมสมบูรณ์และมีฝนตกตามฤดูกาล มีโอกาสเกิดภัยพิบัติน้อย พบเพียงวาตภัย อุทกภัย อัคคีภัยและแผ่นดินไหว เพื่อลดผลกระทบจากภัยพิบัติขึ้นอยู่กับความพร้อม ประสบการณ์และการประสานงานระหว่างหน่วยงาน ดังนั้นประเทศที่ประสบภัยพิบัติบ่อยครั้ง มักมีการเตรียมแผนรับมือสถานการณ์ และกำหนดอาคารศูนย์พักพิงชั่วคราวไว้ล่วงหน้า โดยศูนย์พักพิงชั่วคราวที่พบแบ่งได้ 2 ประเภท คือ 1) ศูนย์พักพิงชั่วคราวนอกระบบ 2) ศูนย์พักพิงชั่วคราวในระบบ ได้แก่ เต็นท์, บ้านน็อคดาวน์, อาคารถาวรที่มีอยู่เดิม และอาคารถาวรที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อรองรับการอพยพโดยเฉพาะ จากการศึกษาพบว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่ง เพราะ ขาดการซักซ้อม และผู้ประสบภัยบางส่วนไม่ยอมอพยพ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับศูนย์พักพิงชั่วคราว, บ้านและทรัพย์สินในพื้นที่ประสบภัย และศูนย์พักพิงชั่วคราวไม่เป็นมิตรกับผู้พักพิงกลุ่มเปราะบางที่มีข้อจำกัดด้านร่างกาย
แม้ว่าศูนย์พักพิงชั่วคราวอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดีที่สุด แต่ศูนย์พักพิงฯ ที่มีความเหมาะสม อาจเป็นการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพได้เช่นกัน ดังนั้นที่ตั้งศูนย์พักพิงฯ ควรมีความปลอดภัย ลดความเปราะบาง สนับสนุนการสร้างปฏิสัมพันธ์ และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี