Abstract:
การซื้อบ้านมือสองผ่านการประมูลทรัพย์จากกรมบังคับคดีมีจุดเด่นคือราคาที่ต่ำกว่าราคาขายในท้องตลาดประมาณร้อยละ 20 – 60 และมีทรัพย์ให้เลือกในหลากหลายทำเล แต่เนื่องจากทรัพย์ที่กรมบังคับคดีนำออกมาประมูลจะเป็นทรัพย์ที่มีข้อพิพาททางกฎหมายจึงมีสภาพทรุดโทรมขาดการบำรุงรักษาและอาจก่อให้เกิดปัญหาที่แตกต่างกันออกไป งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านมือสองจากกรมบังคับคดีทราบถึงขั้นตอนการดำเนินการและข้อพึงระวัง รวมถึงการเตรียมค่าใช้จ่ายและประเมินค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงซ่อมแซมทรัพย์ที่ประมูลได้
ผลการศึกษาพบว่าในการเข้าร่วมประมูลทรัพย์จะแบ่งช่วงระยะในการดำเนินงานได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1. ก่อนการประมูล 2. ระหว่างประมูล และ 3. หลังการประมูล โดยช่วงที่มีความสำคัญและส่งผลทำให้เกิดค่าใช้จ่ายได้แก่ ช่วงก่อนการ ประมูล และช่วงหลังการประมูล โดยช่วงก่อนการประมูลเป็นช่วงของการเตรียมความพร้อมด้วยการศึกษารายละเอียดและเงื่อนไข, การลงพื้นที่เพื่อสำรวจ, การเตรียมหลักฐานแสดงตนและการเตรียมเงินประกัน นอกจากนี้ยังพบทรัพย์ที่จะเพิ่มค่าใช้จ่าย ได้แก่ 1. ทรัพย์ที่ขายตามสำเนาโฉนด 2. ทรัพย์ที่ขายแบบติดจำนอง 3. ทรัพย์ที่ยังมีผู้อยู่อาศัยเดิมอาศัยอยู่ซึ่งคาดว่าอาจต้องใช้เวลานานในการย้ายออกหรืออาจต้องมีการฟ้องขับไล่ และ4. ทรัพย์ที่โครงสร้างชำรุดเสียหาย ทรุดหรือเอียงอย่างเห็นได้ชัด การเตรียมตัวที่ดีและการหลีกเลี่ยงทรัพย์ที่มีลักษณะดังที่กล่าวมาจะช่วยลดความผิดพลาดที่สร้างความเสียหายได้ ไม่ว่าจะเป็นการเสียสิทธิ เสียเวลา รวมถึงเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ และในช่วงหลังการประมูลทรัพย์หากเป็นผู้ชนะการประมูลจะมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการปรับปรุงซ่อมแซม ซึ่งพบว่าการปรับปรุงเพื่อนำไปขายต่อของบ้านประเภททาวน์เฮาส์รวมค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงซ่อมแซมจะคิดเป็นร้อยละ 9.60 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด แบ่งเป็น 1.หมวดงานสถาปัตยกรรม ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงซ่อมแซมคิดเป็นร้อยละ 89.78 2.หมวดงานระบบ ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงซ่อมแซมคิดเป็นร้อยละ 7.05 และ 3.หมวดงานอื่น ๆ ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุง ซ่อมแซมคิดเป็นร้อยละ 3.17 และบ้านประเภทบ้านเดี่ยวรวมค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงซ่อมแซมจะคิดเป็นร้อยละ 10.91 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด แบ่งเป็น 1.หมวดงานสถาปัตยกรรม ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงซ่อมแซมคิดเป็นร้อยละ 93.31 2.หมวดงานระบบ ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงซ่อมแซมคิดเป็นร้อยละ 4.51 และ 3.หมวดงานอื่น ๆ ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงซ่อมแซมคิดเป็นร้อยละ 2.18
สำหรับการปรับปรุงเพื่ออยู่อาศัยจริงอาจมีรายละเอียดที่ผู้ซื้อทรัพย์จะต้องเปลี่ยนหรือทำการปรับปรุงมากขึ้น เพื่อให้สามารถอยู่อาศัยได้ตามลักษณะครอบครัวจริง พบว่าการปรับปรุงเพื่อการอยู่อาศัยนั้นอาจจะมีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงเพิ่มขึ้นของบ้านประเภททาวน์เฮาส์คิดเป็นร้อยละ 13.59 และบ้านเดี่ยวคิดเป็นร้อยละ 16.30 ของราคาทรัพย์ โดยอัตราที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนใหญ่เป็นปัญหาการทรุดตัวของสภาพบ้าน เช่น บริเวณโรงรถ และพื้นที่ต่อเติมครัว รวมถึงการปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้าแสงสว่าง เพื่อให้ได้ตำแหน่งตรงตามการใช้งาน