Abstract:
การพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าในประเทศไทยที่ได้รับมาตรฐานอาคารเขียวโดยเฉพาะมาตรฐาน LEED มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการลงทุนของผู้พัฒนา ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมุ่งศึกษาลักษณะในการเลือกข้อกำหนดตามมาตรฐาน LEED และปัจจัยในการเลือกข้อกำหนดผ่านการเก็บข้อมูลทุติยภูมิด้านการเลือกข้อกำหนดของศูนย์กระจายสินค้าในประเทศไทย และสัมภาษณ์ของผู้พัฒนาโครงการ และ ผู้ใช้งานกรณีศึกษาตัวแทนสำหรับแต่ละระดับคะแนนได้แก่ Certified Silver และ Gold สุดท้ายนำข้อมูลดังกล่าวมาสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อนำเสนอเป็นของเสนอแนะการเลือกข้อกำหนดตามมาตรฐาน LEED ในโครงการศูนย์กระจายสินค้า
ผลการศึกษาพบว่า ลักษณะด้านที่ตั้งที่ใกล้กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีแนวโน้มในการได้รับคะแนนและระดับมาตรฐานที่สูงขึ้นกว่าโครงการที่ตั้งอยู่ห่างออกไป และพบลักษณะในการเลือกข้อคะแนนของโครงการศูนย์กระจายสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐาน LEED แล้วโดยแบ่งเป็น 3 ส่วนดังนี้ 1) โครงการในระดับ Certified มีการมุ่งเน้นการเลือกใช้ข้อคะแนนที่ตอบสนองการลดค่าใช้จ่ายด้านค่าน้ำ และค่าไฟฟ้าในโครงการ 2) โครงการในระดับ Silver มีการมุ่งเน้นการเลือกข้อคะแนนที่ตอบสนอง ประโยชน์ด้านการส่งเสริมปฏิบัติงานในโครงการด้านส่งเสริมการเดินทางของพนักงาน และ การเพิ่มประสิทธิภาพโครงการผ่านการตรวจและทดสอบระบบ 3) โครงการในระดับ Gold มีการมุ่งเน้นประโยชน์ด้านคุณภาพอากาศที่ดีแก่พนักงาน และ ลดผลผลกระทบและมลภาวะแก่ชุมชนโดยรอบโครงการ โดยจากลักษณะในการเลือกข้อกำหนดนำไปสู่การสัมภาษณ์ผู้พัฒนา ผู้เชี่ยวชาญ และ ผู้ใช้งานโครงการ พบข้อค้นพบสำคัญดังนี้ 1) หมวดข้อคะแนนที่มีการเลือกใช้คะแนนเฉลี่ยสูงสุด คือ Energy and Atmosphere Water Efficiency และ Location and Transportation ตามลำดับ 2) แนวคิดด้านโอกาสในการเลือกใช้ข้อคะแนน คือ สอดคล้องกับนโยบายบริษัทด้านการพัฒนาโครงการ และ มีการใช้ข้อกำหนดทั้งด้านอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้างอยู่แล้ว 3) แนวคิดด้านข้อจำกัดในการไม่เลือกใช้ข้อคะแนน คือ ผังเมืองและโครงสร้างคมนาคม ผลกระทบด้านต้นทุนและเวลา และ ขัดกับการปฏิบัติงาน/ความปลอดภัยของสินค้า
งานวิจัยฉบับนี้แสดงให้เห็นลักษณะการเลือกข้อกำหนด และปัจจัยในการเลือกหรือไม่เลือกทำข้อกำหนดในมุมมองของผู้พัฒนา ซึ่งผลการศึกษานี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาด้านอาคารเขียว และผู้พัฒนาที่สามารถนำปัจจัยในการเลือกจากการสัมภาษณ์และข้อเสนอแนะในการเลือกข้อคะแนนเบื้องต้นในงานวิจัยไปปรับใช้สำหรับการเริ่มต้นวางแผนการพัฒนาโครงการศูนย์กระจายสินค้าที่ไม่ได้มีความต้องการมาตรฐานรับรองแต่มีความต้องการพัฒนาโครงการให้ตอบสนองความต้องการของผู้พัฒนา ผู้ใช้งาน ชุมชนโดยรอบ และสิ่งแวดล้อม และ โครงศูนย์กระจายสินค้าการต้องการขอมาตรฐาน LEED ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดโดยรอบ