Abstract:
ชุมชนประชาอุทิศ 76 เป็น 1 ใน 3 ชุมชนที่ถูกรื้อย้ายมาจากบ้านใต้สะพานในปี 2544 ปัจจุบันผ่านการรื้อย้ายจากใต้สะพานมาสร้างบ้านในชุมชนแห่งใหม่นานกว่า 20 ปี ผู้วิจัยจึงสนใจจะศึกษาการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยของชาวชุมชน ทั้งที่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง และ เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ผลการศึกษาพบว่า ที่อยู่อาศัยในชุมชนสามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ 1) ที่อยู่อาศัยที่มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง 2) ที่อยู่อาศัยที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงด้วยการช่วยเหลือของหน่วยงานภาคเอกชน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองมี 3 ลักษณะ คือ 1) ที่อยู่อาศัยที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนคือผู้ที่อยู่อาศัยมีอาชีพที่มีเงินเดือนประจำ และในครัวเรือนมีผู้ที่มีรายได้มากกว่า 1 คน 2) ที่อยู่อาศัยที่มีสภาพคงเดิม เพราะสมาชิกในครัวเรือนมีรายได้เพียงพอต่อการใช้จ่ายและสมาชิกสามารถดูแลปรับปรุงที่อยู่อาศัยเองได้ 3) ที่อยู่อาศัยที่เสื่อมโทรมตามสภาพ เพราะผู้ที่อยู่อาศัยมีรายได้ที่ไม่แน่นอน จำนวนสมาชิกในครัวเรือนมีจำนวนมากและไม่ได้ประกอบอาชีพ ส่วนที่อยู่อาศัยที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงด้วยการช่วยเหลือของหน่วยงานภาคเอกชน เนื่องจากรายได้ของครัวเรือนที่ไม่แน่นอนและสมาชิกไม่มีความสามารถในการปรับปรุงที่อยู่อาศัย ทำให้ต้องขอรับความช่วยเหลือจากภายนอก ซึ่งความช่วยเหลือเป็นแบบที่ผู้ที่อยู่อาศัยไม่มีส่วนร่วมในการก่อสร้าง จึงสมควรที่จะมีสถาปนิกชุมชนมาให้คำแนะนำในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อให้เกิดการใช้วัสดุก่อสร้างอย่างเหมาะสม ไม่เกิดเป็นปัญหาการใช้วัสดุก่อสร้างผิดประเภทหรือปัญหาในการอยู่อาศัยตามมาภายหลัง
จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าปัจจัยและสาเหตุของการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยในชุมชนประชาอุทิศ 76 คือ ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ต้องมีการวางแผนแนวทางการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม เพื่อให้ชาวชุมชนได้รับคำแนะนำในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย และการจัดการวัสดุที่นำมาใช้ก่อสร้างอย่างถูกวิธี ซึ่งการพัฒนาชุมชนมีความจำเป็นต้องมีการติดตามและปฏิบัติอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงชุมชนให้เข้ากับสภาวะปัญหาและสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาช่วยให้ชุมชนมีการพัฒนาที่ยั่งยืนเหมาะสม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยให้ดีขึ้น