Abstract:
จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐส่งผลทำให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัย แหล่งงาน และสาธารณูปการ เมื่อทำการศึกษาย้อนไปในอดีตช่วง 20 - 30 ปีก่อนหรือช่วงพ.ศ. 2542 - พ.ศ. 2564 พบว่า การเติบโตของโครงข่ายการคมนาคมมีผลต่อการพัฒนาพื้นที่ในฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ทั้งจากการสร้างถนนกาญจนาภิเษก ถนนบรมราชชนนี ถนนราชพฤกษ์ และถนนกัลปพฤกษ์ ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษารูปแบบการพัฒนาของที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเพื่อนำรูปแบบการพัฒนา และแผนการพัฒนาของภาครัฐมาพิจารณาถึงลำดับการพัฒนาที่อยู่อาศัย และการเกิดสาธารณูปการที่เชื่อมโยงอันจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการกำหนดแผนงานในการพัฒนาการขยายตัวของพื้นที่เมืองต่อไป โดยใช้การเก็บข้อมูลด้วยวิธีการลงพื้นที่สำรวจภาคสนาม และการรวบรวมข้อมูลจากเว็ปไซต์ และเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ผลการศึกษาพบว่าลำดับการเกิดที่อยู่อาศัย และสาธารณูปการแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1) การเกาะกลุ่มของประเภทอสังหาริมทรัพย์ 3 ประเภทหลัก คือ ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และสาธารณูปการ โดยพบว่าที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวจะมีการเกาะกลุ่มกันมากบริเวณถนนราชพฤกษ์เป็นหลัก ส่วนบ้านแถวและอาคารชุด พบการเกาะกลุ่มกันมากในบริเวณถนนกัลปพฤกษ์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร 2) การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความหนาแน่นมากขึ้นจะสัมพันธ์กับการจราจรที่หนาแน่นตามมา ไม่ว่าจะเป็นในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนช่วงเช้า และช่วงเย็น หรือ ช่วงระหว่างวันจะพบการจราจรหนาแน่นในโซนพาณิชยกรรม ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าแผนการคมนาคมตามผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร กับเส้นทางคมนาคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่มีความสอดคล้องกัน 3) แผนที่ลำดับการพัฒนาตามรายปีได้แสดงให้เห็นว่า เมื่อถนนถูกพัฒนาใหม่ กลุ่มหมู่บ้านจัดสรรจะเกิดขึ้นก่อนเป็นลำดับแรก ต่อมาเมื่อมีความหนาแน่นของที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจะเริ่มพบเห็นพื้นที่พาณิชยกรรม และสาธารณูปการเกิดขึ้นตามมา โดยมีรูปแบบการพัฒนาไปตามแนวแกนถนน(Ribbon Development) ซึ่งพบว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินมีความสอดคล้องกับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร แต่ในส่วนสาธารณูปการที่เกิดขึ้น มีความครอบคลุมแต่ไม่ใช่ด้วยกลไกหรือการวางแผนของภาครัฐแต่เกิดจากการพัฒนาของภาคเอกชนเป็นหลัก จึงทำให้รูปแบบการพัฒนาขาดการดำเนินการอย่างดีพอจนไม่สอดคล้องกับการวางผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานครในย่านนี้
จึงสรุปได้ว่าจากการพัฒนาที่เกิดขึ้นบนถนนราชพฤกษ์ และถนนกัลปพฤกษ์ พบว่า มีทั้งในประเด็นที่สอดคล้องและไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งในประเด็นที่ไม่สอดคล้องนำมาสู่ข้อเสนอ ในการส่งเสริมการพัฒนาถนนสายย่อย การศึกษาเส้นทางเดินรถสาธารณะ การนำเครื่องมือทางผังเมืองด้านอื่นๆมาใช้งาน เช่น การจัดรูปที่ดิน รวมไปถึงการบังคับใช้แผนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น