Abstract:
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีพื้นฐานของอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการจัดการในแขนงต่างๆ และเนื่องด้วยในปัจจุบัน 56% ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในเมือง ส่งผลให้หลายประเทศเผชิญปัญหาการขยายตัวของเมือง ดังนั้นจึงเริ่มมีการบูรณาการเทคโนโลยีเหล่านี้ร่วมกับการจัดการเมือง เช่น การบูรณาการเข้ากับโครงข่ายไฟฟ้าซึ่งก่อให้เกิดทางเลือกในการจัดการพลังงานและช่วยเพิ่มปริมาณการประหยัดพลังงานในเมืองได้ โดยการบูรณาการเช่นนี้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพลเมืองในทุกๆแง่มุมจนนำไปสู่แนวคิด “การดำรงชีวิตอัจฉริยะ” ในทางเดียวกันการดำรงชีวิตอัจฉริยะในแง่ของคุณภาพที่อยู่อาศัยเกิดจากการบูรณาการเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ากับอาคารอัจฉริยะ (Smart building) หรือบ้านอัจฉริยะ (Smart home) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้ แม้ว่าแนวคิดการดำรงชีวิตอัจฉริยะในแง่ของคุณภาพที่อยู่อาศัยนั้นเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แต่กลับพบว่าข้อมูลเหล่านั้นกระจายและสอดแทรกอยู่ภายใต้งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอาคารหรือบ้านอัจฉริยะซึ่งขาดการรวบรวมและจัดหมวดหมู่ข้อมูลด้านนี้อย่างเป็นระบบรวมถึงขาดการนำเสนอข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน อีกทั้งการศึกษาเกี่ยวกับการดำรงชีวิตอัจฉริยะส่วนใหญ่เน้นข้อมูลทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมากกว่าด้านที่ไม่ใช่เทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมและจัดหมวดหมู่กรอบความคิดการดำรงชีวิตอัจฉริยะในแง่ของคุณภาพที่อยู่อาศัยที่ผสานระหว่างข้อมูลทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและด้านที่ไม่ใช่เทคโนโลยีสารสนเทศจากการศึกษาเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติ ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพิจารณาความครอบคลุมด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะในบริการและผลิตภัณฑ์จากภาคธุรกิจจริงที่มีความเป็นปัจจุบัน
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว งานวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยที่อ้างอิงตามแนวทางการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ เริ่มต้นด้วยการคัดกรองการศึกษาทางวิชาการทั้งในเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับอาคารอัจฉริยะหรือบ้านอัจฉริยะจำนวน 30 ฉบับแล้วจึงทำการทบทวนวรรณกรรม จากนั้นจึงคัดเลือกการศึกษาที่มีการนำเสนอรูปแบบของแนวปฏิบัติ เกณฑ์ ตัวบ่งชี้หรือแบบจำลองความคิดสำหรับบ้านหรืออาคารอัจฉริยะ กรณีศึกษาที่ได้รับคัดเลือกประกอบด้วยการศึกษาเชิงทฤษฎี 5 กรณีศึกษาและการศึกษาเชิงปฏิบัติ 2 กรณีศึกษา ต่อมาจึงทำการรวบรวมและจัดหมวดหมู่คำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดการดำรงชีวิตอัจฉริยะในแง่ของคุณภาพที่อยู่อาศัยเพื่อสังเคราะห์เป็นกรอบความคิด ผลการศึกษาพบว่าสามารถแบ่งกรอบความคิดได้เป็น 2 กลุ่มหลักได้แก่ การจัดการและการยกระดับ ซึ่งประกอบด้วย 9 เกณฑ์และ 30 ตัวบ่งชี้ นอกจากนี้ผู้วิจัยได้นำกรอบความคิดที่ได้มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับการศึกษาเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติ รวมทั้งทำการสาธิตวิธีการประยุกต์ใช้กรอบความคิดในการพิจารณาโครงการที่เกี่ยวข้องการดำรงชีวิตอัจฉริยะเพื่อเสนอแนวทางในการออกแบบและพัฒนาต่อยอดในอนาคต จากการวิเคราะห์พบว่าการศึกษาเชิงทฤษฎีได้วางกรอบความคิดการดำรงชีวิตอัจฉริยะไว้อย่างคลุมครอบมากกว่าการศึกษาเชิงปฏิบัติ นอกจากนั้นยังทราบถึงแนวโน้มของโครงการที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตอัจฉริยะว่ามีการเน้นย้ำในการปฏิบัติการด้านเกณฑ์การจัดการสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและเกณฑ์การจัดการภาวะส่วนตัวสูงสุด รวมถึงพบช่องว่างในการสาธิตเกณฑ์การประเมินระดับความอัจฉริยะว่าควรบูรณาทั้งการประเมิณเชิงคุณภาพร่วมกับเชิงตัวเลขซึ่งช่วยส่งเสริมให้เกิดการประเมินระดับการดำรงชีวิตอัจฉริยะที่สมบูรณ์