Abstract:
การศึกษาชิ้นนี้นำเสนอการใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจของจีนในการต่อรองระหว่างประเทศ ซึ่งมีคำถามสำคัญคือจีนใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจในการต่อรองระหว่างประเทศในเชิงผลประโยชน์หรือเชิงยุทธศาสตร์อย่างไร และการใช้เครื่องมือนี้ส่งผลอย่างไร โดยจะชี้ให้เห็นว่าในเบื้องต้นจีนได้ใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาประเทศไปสู่การเรืองอำนาจโดยสันติ การพัฒนานี้ทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในภายหลัง และยังสร้างคุณูปการทางเศรษฐกิจกับชาติต่างๆทำให้ชาติต่างๆเข้ามาพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับจีน เมื่อเกิดการพึ่งพาที่ไม่เท่าเทียมกันเช่นนี้ จีนได้ใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจเพื่อต่อรองเมื่อเกิดความขัดแย้งกับประเทศคู่พิพาท การศึกษาชิ้นนี้ได้หยิบยกญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาโดยชี้ให้เห็นว่าการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นพึ่งพาสินแร่ที่มีธาตุโลหะหายากจากจีนนั้น การพึ่งพาที่ไม่เท่าเทียมกันได้ทำให้จีนใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจในการต่อรองเมื่อเกิดข้อพิพาทเกาะเซนกากุ/เตียวหยูเพื่อให้ญี่ปุ่นปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของจีน การศึกษาชิ้นนี้ยังหยิบยกไต้หวันขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาโดยชี้ให้เห็นว่าจีนพยายามที่จะใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจภายหลังการเลือกตั้งไต้หวันปี 2000 และปี 2004 และจีนยังให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ชาติต่างๆ อันเป็นเครื่องมือในการแข่งขันการแย่งชิงความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับไต้หวัน ดังนั้น การพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับจีนจึงเป็นทั้งประโยชน์และโทษที่รัฐพึ่งพิงจะต้องระวัง อย่างไรก็ตาม การใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจของจีนก็ไม่ได้ประสบผลสำเร็จตามที่จีนต้องการเสมอไปเพราะการใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจนี้ไม่เพียงก่อให้เกิดทัศนคติที่ไม่ดี แต่ยังชี้ให้เห็นถึงความย้อนแย้งระหว่างการสร้างความหวาดระแวงกับการเรืองอำนาจโดยสันติด้วย