Abstract:
การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการศึกษาวิเคราะห์วงจรชีวิตองค์การของทีวีสาธารณะ อันประกอบด้วย สถานีโทรทัศน์ไอทีวี สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีและสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสตามแนวคิดทฤษฎีของ Ichak Adizes ผ่านสถานการณ์ที่องค์การเผชิญในแต่ละช่วงวัย รวมทั้งยังเป็นการศึกษาถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนผ่านขององค์การในแต่ละระยะช่วงวัยและปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเสื่อมถอยและล้มตายขององค์การ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพจากการศึกษาเชิงเอกสารผ่านการรวบรวมข้อมูลเอกสาร หนังสือรวบรวมเหตุการณ์ บทสัมภาษณ์ในวารสารและคลิปวิดิโอสั้นต่างๆที่มีการกล่าวถึงพัฒนาการและลำดับเหตุการณ์ที่สำคัญของทีวีสาธารณะ รวมถึงการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหารระดับสูงของทั้ง 3 องค์การกล่าวคือ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไอทีวี สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีและสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จำนวนทั้งสิ้น 5 ท่าน เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่ครบถ้วนและถูกต้องมากที่สุด
จากผลการศึกษาพบว่า สถานีโทรทัศน์ไอทีวีนั้นดำรงอยู่ในระยะระบบราชการ (Bureaucracy) ของวงจรชีวิตองค์การ ส่วนสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีดำรงอยู่ในระยะเข้าสู่ระบบราชการ (Early Bureaucracy) ของวงจรชีวิตองค์การ ซึ่งทั้งสององค์การนั้นต่างเข้าสู่ระยะช่วงวัยที่เผชิญกับความเสื่อมถอยขององค์การทั้งสิ้นแตกต่างจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสที่ดำรงอยู่ ณ ระยะมั่นคง (Stable) ของวงจรชีวิตองค์การ ทั้งนี้ จากผลการศึกษาได้สะท้อนให้เห็นว่า ความเสื่อมถอยหรือล้มตายขององค์การนั้นไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากปัจจัยสภาพแวดล้อมภายในองค์การเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นจากปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอกองค์การร่วมด้วย โดยสถานีโทรทัศน์ไอทีวีได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ปัจจัยการเมืองและปัจจัยเรื่องกฎหมายสัมปทานที่บีบบังคับให้การดำเนินงานขององค์การบิดเบือนออกไปจากเจตนารมณ์เดิมและเป็นเหตุให้องค์การไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ขณะเดียวกัน ในส่วนของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีก็ได้รับผลกระทบจากปัจจัยการเมืองจากการออกคำสั่งให้องค์การต้องแปรสภาพองค์การเป็นทีวีสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย รวมถึงผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงการบริหารงานจากภาคเอกชนมาสู่การกำกับดูแลภายใต้องค์การภาครัฐเป็นการสร้างความยุ่งยากในการดำเนินงานรวมถึงการเป็นภาระขององค์การภาครัฐในการทำหน้าที่กำกับดูแลองค์การเพิ่มเติมยิ่งเป็นตัวเร่งหนึ่งให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีได้เผชิญความเสื่อมและปิดตัวลงในที่สุด อย่างไรก็ดี จากบทเรียนที่ล้มเหลวของสถานีโทรทัศน์ทั้งสองข้างต้นได้ทำให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสถือกำเนิดขึ้นเรียนรู้ที่จะกำจัดช่องโหว่จากปัจจัยภายนอกเหล่านั้น เพื่อคงไว้ซึ่งเจตนารมณ์และพันธกิจหลักของการเป็นทีวีสาธารณะ อย่างไรก็ตาม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสยังคงประสบกับความเสี่ยงของปัจจัยภายนอกจำนวนมากที่ส่งแรงกระเพื่อมต่อการดำเนินงานอยู่เสมอ อันประกอบด้วย ปัจจัยทางการเมืองจากความพยายามแทรกแซงเพื่อลดทอนงบประมาณการดำเนินงานขององค์การหรือปัจจัยจากการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้นอันเกิดจากกฎหมายอนุญาตการประมูลคลื่นความถี่ระบบดิจิทัลที่ทำให้ประชาชนมีโอกาสเลือกชมสื่อโทรทัศน์ได้หลายหลายมากขึ้น หรือแม้แต่การพฤติกรรมการบริโภคสื่อของประชาชนที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นเหตุให้องค์การไม่สามารถรักษาระยะสมดุล (Prime) ขององค์การบนวงจรชีวิตองค์การไว้ได้และเข้าสู่ระยะมั่นคง (Stable) ในที่สุด
และเนื่องจากในอดีตจวบจนถึงปัจจุบันนั้น สื่อสาธารณะเป็นสิ่งที่ภาคประชาชนเรียกร้องให้เกิดขึ้นสังคมไทยมาโดยตลอด อนึ่ง แม้ว่าแนวความคิดดังกล่าวนั้นจะถูกประดิษฐ์สร้างขึ้นในรูปของทีวีเสรี อันได้แก่ สถานีโทรทัศน์ไอทีวีและสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ทีวีเสรีทั้งสององค์การนั้นกลับประสบความล้มเหลวและเผชิญกับความเสื่อมถอย ล้มตายจนต้องยุติกิจการ ก่อนที่จะได้ทำการแปรสภาพเป็นทีวีสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งถึงแม้ว่าสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจะได้นำบทเรียนจากทีวีเสรีมาปรับแก้และปิดกลบช่องโหว่เดิมแล้วก็ตาม แต่ทีวีสาธารณะในปัจจุบันก็ยังคงเผชิญกับปัจจัยจากสภาพแวดล้อมอีกหลายประการ จึงจำเป็นที่จะต้องตื่นตัวที่จะปรับปรุงและพัฒนาสื่อให้มีคุณภาพและสอดรับกับภารกิจการดำเนินงานขององค์การ ทั้งการเปิดพื้นที่สาธารณะให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพและสร้างสรรค์ อีกทั้งยังเป็นสื่อที่เคียงข้างประชาชนโดยปราศจากการถูกครอบงำและแทรกแซงจากภาคการเมือง ภาคเอกชนและพร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริงเพื่อหลีกหนีจากความเสื่อมหรือความตายดังเช่นที่เคยเป็นมาและยังสร้างอัตลักษณ์ในการเป็นทีวีสาธารณะที่มีความแตกต่างอย่างยั่งยืนด้วย