Abstract:
งานวิจัยเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ชีวิตในเรือนจำของ “แพะ” ในคดีอาญาเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) ศึกษากระบวนการปรับตัวของ "แพะ” ในคดีอาญาก่อนถูกคุมขังและระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำ 2) ศึกษาปัญหาในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม “แพะ” ในคดีอาญา 3) ศึกษาผลกระทบของ “แพะ” และครอบครัวของ “แพะ” ในคดีอาญา เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) เป็นเครื่องมือหลักในการรวบรวมข้อมูล โดยเป็นการศึกษาวิจัยผ่านเรื่องเล่า (narrative) ของผู้ตกเป็น “แพะ” ในคดีอาญา ศึกษาปัญหาในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และศึกษาผลกระทบของผู้ตกเป็น “แพะ”และครอบครัวของผู้ตกเป็น “แพะ” ในคดีอาญา
จากการศึกษาวิจัย มีข้อค้นพบดังต่อไปนี้ (1) กระบวนการปรับตัวของผู้ตกเป็น “แพะ” ในคดีอาญา มีองค์ประกอบ 2 ประการ ได้แก่ 1.1 ความเป็นชนชั้นและการปรับตัวสู่เรือนจำ ซึ่งประกอบด้วย ชนชั้นของผู้มีฐานะทางสังคมและผู้ที่มีฐานะทางสังคมที่ด้อยกว่า จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้บริสุทธิ์ตกเป็น “แพะ” ในคดีอาญาโดยมีจุดเปลี่ยน 3 ประการ ได้แก่ การเข้าไปอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ การรู้จักกับผู้กระทำผิดหรืออาชญากร และการตกเป็น “แพะ” จากความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรม ความวิตกกังวลก่อนเข้าสู่เรือนจำเกิดขึ้น 2 ประการ คือ ความวิตกกังวลต่อตนเอง ความวิตกต่อสมาชิกในครอบครัว 1.2 สภาพแวดล้อมในเรือนจำที่ส่งผลต่อการปรับตัว ได้แก่ มิติเชิงพื้นที่ คือ พื้นที่ภายในบริเวณเรือนจำเนื่องจากมีผู้ต้องขังเป็นจำนวนมากทำให้รู้สึกแออัดทางร่างกายและจิตใจ มิติการปฏิสัมพันธ์ซึ่งเป็นการสนทนาระหว่างผู้ต้องขังรายอื่นมีการเล่าประสบการณ์ของแต่ละคนอาจทำให้ลดความวิตกกังวลและทำให้ไม่สามารถลดความเครียดลงได้เช่นกัน กฎระเบียบที่เคร่งครัด ผู้ที่ตกเป็น “แพะ” และผู้ต้องขังรายอื่นต้องปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัดซึ่งกฎระเบียบมีทั้งผลดีและผลเสีย ซึ่งผลดีคือการทำให้เกิดความสงบในการอยู่ในเรือนจำส่วนผลเสียก่อให้เกิดความเครียด ความกดดันในการใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ และกิจกรรมภายในเรือนจำ ซึ่งทุกเรือนจำจะมีการจัดกิจกรรมให้ผู้ตกเป็น “แพะ”ได้เข้าร่วม ได้แก่ กิจกรรมตามเทศกาลต่างๆ กิจกรรมทางศาสนา ทำงานตามกองงานต่างๆ ซึ่งการทำงานในกองงานนั้นเพื่อเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีจิตใจที่สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน และทำให้ร่างกายแข็งแรง (2) กระบวนการปรับตัวระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำ มีองค์ประกอบ 8 ประการ ดังนี้ 2.1 ปัจจัยที่ส่งผลต่อกระบวนการปรับตัว “แพะ” ในคดีอาญา มี 2 ปัจจัย คือ ภูมิหลังของผู้ตกเป็น “แพะ” ในคดีอาญา ประสบการณ์เดิมของ “แพะ” ในคดีอาญา 2.2 ความเท่าเทียมกันของ “แพะ” และผู้ต้องขังรายอื่นในเรือนจำ โดยผู้ตกเป็น “แพะ” และผู้ต้องขังรายอื่นถูกคุมขังในเรือนจำทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันไม่มีการแบ่งแยก ให้เกียรติซึ่งกันและกัน รวมถึงเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน 2.3 การเปลี่ยนสถานที่คุมขัง 2.4 การทำความรู้จักและการรวมกลุ่มของ “แพะ” และผู้ต้องขังในเรือนจำ 2.5 การพึ่งพาอาศัยและการดำรงชีพของ “แพะ” ในเรือนจำ 2.6 ปัจจัยที่ทำให้ปรับตัวได้ดี ประกอบด้วย ปัจจัยที่ส่งเสริมต่อการปรับตัว ได้แก่ ตนเอง สถาบันครอบครัว สภาพแวดล้อมของเรือนจำ การเปลี่ยนผ่านของเส้นทางชีวิต 2.7 ปัจจัยที่ทำให้ปรับตัวได้ไม่ดี 2.8 การเผชิญปัญหาหรือการโต้ตอบปัญหาโดยอัตโนมัติ (3) สาเหตุที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ตกเป็น “แพะ” ในคดีอาญา ซึ่งเป็นปัญหาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมี 2 ประการ 3.1 ปัจจัยจากภูมิหลังของผู้ตกเป็น”แพะ”ในคดีอาญา 3.2 ธรรมาภิบาลในองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ พนักงานสอบสวนหรือตำรวจ ทนายความ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ (4) ข้อบกพร่องของการเยียวยาผู้ตกเป็น “แพะ” ในคดีอาญา มี 3 ประการ ได้แก่ 4.1 ช่องว่างของพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559) 4.2 การอนุมัติผลการเยียวยาที่ล่าช้า และ 4.3 การใช้งบประมาณของรัฐในการเยียวยาเพียงอย่างเดียว (5) การลดช่องว่างเพื่อการช่วยเหลือเยียวยาผู้ตกเป็น “แพะ” ในคดีอาญา ประกอบด้วย 2 ประการ ได้แก่ 5.1 การนำพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 เข้ามาช่วยเหลือ แพะ ที่ไม่ได้รับการเยียวยา โดยการเยียวยา “แพะ” ในชั้นสอบสวน 5.2 นำปฏิญญาสากลว่าด้วยหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการอำนายความยุติธรรมแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมและการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องมาช่วยเหลือเยียวยา (6) แผนการพัฒนาและการปรับปรุงเพื่อช่วยเหลือเยียวยา “แพะ” ในคดีอาญา โดยควรจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือ “แพะ” เพิ่มการกระจายอำนาจการอนุมัติผลการช่วยเหลือเยียวยาครบทั้ง 76 จังหวัด (7) ผลกระทบต่อการถูกจองจำของ “แพะ” ในคดีอาญา มีผลกระทบ 6 ประการ ได้แก่ การถูกจำกัดเสรีภาพ ปัญหาเกี่ยวกับการถูกจำกัดด้านอิสรภาพ การถูกจำกัดด้านอุปโภค บริโภค และบริการ การถูกจำกัดด้านความปลอดภัย ปัญหาทางร่างกาย ปัญหาสุขภาพจิต (8) ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของ “แพะ” ในคดีอาญาหลังพ้นโทษจากเรือนจำ ได้แก่ การประกอบอาชีพและรายได้ การเปลี่ยนที่ทำงานและที่อยู่อาศัย สุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต การตีตราจากผู้คนในสังคม และ การตีตราจากสื่อมวลชน (9) สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัวเมื่อ “แพะ” ถูกคุมขังในเรือนจำ พบสภาพปัญหา ดังนี้ 9.1สมาชิกในครอบครัวต้องประกอบหลายอาชีพเพื่อหารายได้เพิ่มมากขึ้น 9.2 การกู้ยืมเงิน 9.3 สมาชิกในครอบครัวไม่ได้ศึกษาต่อ 9.4 ปัญหาสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตของสมาชิกในครอบครัว 9.5 การตีตราจากสังคม และ 9.6 การตีตราจากสื่อมวลชน