Abstract:
การวิจัยเรื่อง "จิตอาสาใต้โลกแห่งความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม: การคิดย้อนสะท้อนกลับและการสื่อสารของนักดำน้ำอาสาสมัครในประเทศไทย" มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาการคิดย้อนสะท้อนกลับของนักดำน้ำอาสาสมัครที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสื่อ 2) ศึกษาสาเหตุ ปฏิบัติการการคิดย้อนสะท้อนกลับและการตอบโต้ของนักดำน้ำต่อสถานการณ์สังคมเสี่ยงวิกฤตทะเลไทย และ 3) ศึกษาสังคมเสี่ยงของการท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบต่อนักดำน้ำและการคิดย้อนสะท้อนกลับ ปรับตัว วิธีการวิจัยใช้การสัมภาษณ์ระดับลึกควบคู่กับการเข้าไปมีส่วนร่วมทำงานเป็นนักดำน้ำอาชีพ นักดำน้ำอาสาสมัครและเข้าฝึกเพื่อเป็นนักดำน้ำเพื่อการอนุรักษ์ในค่ายทหาร พื้นที่หลักในการศึกษา ประกอบด้วย เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีและเกาะพระ จังหวัดชลบุรี กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย นักดำน้ำอาชีพ นักดำน้ำอาสาสมัคร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 53 คน ผลการวิจัยพบว่า การนำเสนอข่าวสังคมความเสี่ยงของสื่อส่งผลให้เกิดการคิดย้อนสะท้อนกลับและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำน้ำให้เป็นนักดำน้ำอาสาสมัครในบริบทต่างๆ นอกจากนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้นักดำน้ำเกิดการคิดย้อนสะท้อนกลับและผันตัวเป็นอาสาสมัครใต้ทะเล ประกอบด้วย ประสบการณ์ตรงจากการลงไปสัมผัสโลกใต้ทะเล ความขัดแย้งทางทะเลและการเข้าร่วมอบรมด้านการอนุรักษ์ นักดำน้ำใช้วิธีจัดการปัญหาสังคมเสี่ยงและโต้ตอบผ่านสื่อด้วยการทำหน้าที่เป็นนักสื่อสารพลเมืองใต้ทะเล โดยใช้กล้องถ่ายรูปใต้น้ำควบคู่กับเครือข่ายสังคมออนไลน์ วิธีปรับตัวของนักดำน้ำภายใต้สังคมเสี่ยงแบบทุนนิยม คือการพัฒนาทักษะความรู้ สร้างจุดเด่น สร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและนำความรู้มาใช้ในงานอาสาสมัครเพื่อเคลื่อนไหวสังคม