Abstract:
วิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) วิเคราะห์เปรียบเทียบหลักการบริหารจัดการโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุดำเนินการโดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม (2) เพื่อวิเคราะห์ความสอดคล้องระหว่างการบริหารจัดการโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุกับค่านิยมสำคัญของ 3 พาราไดม์ทางการบริหารจัดการภาครัฐ (3) เพื่อศึกษาลักษณะพื้นฐานของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในโครงการที่พักอาศัยที่ดำเนินการโดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เเละ (4) เพื่อเป็นข้อเสนอแนะแนวทางในการบริหารจัดการโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผ่านการใช้เครื่องมือในการวิจัยได้แก่ การศึกษาจากเอกสารและการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง การเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) ทั้งนี้เป็นการสัมภาษณ์กลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่เป็นผู้บริหารโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุของศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค กรุงเทพมหานคร จำนวน 1 คน โครงการสวางคนิเวศ สภากาชาดไทย จำนวน 1 คน และโครงการ Wellness City จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 1 คน จากการวิจัยพบว่ากรณีศึกษาศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค กรุงเทพมหานคร มีหลักการบริหารจัดการภาครัฐแนวเก่า (Old Public Management: OPM) เป็นค่านิยมหลัก โครงการสวางคนิเวศ สภากาชาดไทย มีหลักการบริหารจัดการสาธารณะแนวใหม่ (New Public Service: NPS) เป็นค่านิยมหลัก และโครงการ Wellness City มีหลักการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management: NPM) เป็นค่านิยมหลัก อย่างไรก็ตามผู้เขียนมองว่าทุกการบริหารจัดการต้องมีความผสมผสานกันของทั้ง 3 พาราไดม์ทางการบริหารจัดการภาครัฐที่ต้องนำมาบริหารจัดการทั้ง 3 พาราไดม์ให้เกิดความสมดุล โดยมีหลักการบริหารจัดการภาครัฐแนวเก่าเป็นพื้นฐานมีโครงสร้างองค์กรที่เข้มแข็ง มีหลักการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันทางเศรษฐกิจ นึกหลักความคุ้มค่า มีตัวชี้วัดผลการทำงานของบุคคลเเพื่อคัดกรองคนที่มีประสิทธิภาพในองค์กร และเป็นองค์กรที่มีความเป็นประชาธิปไตย ส่งเสริมให้เกิดการตัดสินใจผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน มีมุมมองต่อประชาชนเป็นพลเมืองตื่นรู้ซึ่งนับว่าเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการและพัฒนาองค์กรเป็นองค์กรที่สามารถตรวจสอบได้ มีคุณธรรมด้วยการใช้หลักการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ เมื่อมีการบริหารจัดการองค์กรที่ดีไม่ว่าจากภาคส่วนใดก็สามารถขับเคลื่อนสังคมก่อให้เกิดเป็นสังคมที่ดีสืบต่อไปได้