Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับโครงสร้างอำนาจในท้องถิ่น และองค์กรอื่นในรัฐไทย ด้วยการศึกษาผ่านตัวแสดง ความสัมพันธ์ทางอำนาจในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมระหว่างบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน รวมถึงตัวแสดงอื่นที่เกี่ยวข้องกับการปกครองส่วนท้องถิ่นในบริบทสถานการณ์ความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยขอบเขตการศึกษาครอบคลุมตั้งแต่ยุคก่อร่างรัฐและการผนวกปาตานีเข้ากับรัฐสยามจนถึงปัจจุบันภายใต้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พ.ศ.2329-2564) งานศึกษาชิ้นนี้ใช้ระเบียบวิธิวิจัยแบบผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณ ด้วยการใช้สถิติเชิงพรรณนาจากข้อมูลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการใช้การตีความจากการสัมภาษณ์ และข้อมูลเอกสารทางประวัติศาสตร์ รวมถึงการเก็บข้อมูลในพื้นที่ที่มีความถี่สะสมของเหตุการณ์ความรุนแรงสูงสุดระหว่างปี 2547-2564 ประกอบด้วย อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา
ผลการศึกษาพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับโครงสร้างอำนาจในท้องถิ่นเป็นความสัมพันธ์ที่ผูกติดกับโครงสร้างสถาบันเชิงจารีตที่เชื่อมโยงราชสำนัก ศาสนา เจ้าเมือง และกลุ่มพ่อค้าคนจีน ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับองค์กรอื่นในรัฐไทยเป็นความสัมพันธ์ผ่านโครงสร้างรัฐราชการแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการปกครอง ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ทั้งนี้ มีองค์ประกอบของตัวแสดงที่เข้าไปมีบทบาทในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกอบด้วยข้าราชการทางการเมืองที่มีความสัมพันธ์ด้านใดด้านหนึ่งกับเครือข่ายสถาบันจารีตดั้งเดิม และข้าราชการประจำที่มีความสัมพันธ์กับรัฐส่วนกลางตามโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน ในขณะที่จิตสำนึกเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกช่วงเวลากลับพบว่าอยู่ในระดับต่ำสุด คือ ระดับการครอบงำและบังคับความคิด และระดับการบำบัดรักษา เพราะเครือข่ายเชิงสถาบันในราชการส่วนท้องถิ่นและประชาชนถูกครอบงำโดยโครงสร้างรัฐราชการแบบรวมศูนย์อำนาจภายใต้บริบทสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และสถานการณ์ความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ส่งผลทำให้ท้องถิ่นกลายเป็นสถาบันที่ต้องรองรับการใช้อำนาจจากรัฐทุกรูปแบบผ่านวิธีการควบคุม กำกับ กดทับ ลดทอน และจำกัดการกระทำของสถาบันหรือตัวแสดงระดับท้องถิ่น ที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นตัวกำหนดการก่อรูปโครงสร้างเชิงสถาบัน