Abstract:
จุดมุ่งหมายของงานวิจัยนี้ คือ การเตรียมยางธรรมชาติอิพ็อกซิไดซ์ (อีเอ็นอาร์) ยางผสมของยางอีเอ็นอาร์/ไวนิลแอซีเทต-เอทิลีนโคพอลิเมอร์ (วีเออี) และนาโนคอมพอสิตของยางอีเอ็นอาร์/
วีเออี/นาโนซิลิกาภายใต้การบ่มด้วยซัลเฟอร์ 3 ระบบ ได้แก่ ระบบดั้งเดิม ระบบกึ่งประสิทธิภาพ และระบบประสิทธิภาพ โดยใช้เททระเบนซิลไทยูแรมไดซัลไฟด์เป็นสารบ่มเร่งที่ไม่ปลดปล่อยสารก่อมะเร็ง ยางอีเอ็นอาร์ถูกเตรียมได้จากกระบวนการ ‘อินซิทู’ อิพ็อกซิเดชันของน้ำยางธรรมชาติข้นด้วย
กรดฟอร์มิกและไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ที่อัตราส่วนโดยโมลต่างๆ กัน ที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4–10 ชั่วโมง และถูกตรวจสอบเอกลักษณ์ด้วยเทคนิคอินฟราเรดสเปกโทรสโกปี
นิวเคลียร์แมกเนติกเรโซแนนซ์สเปกโทรสโกปี ดิฟเฟอเรนเชียลสแกนนิงแคลอริเมทรี และ
กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องผ่าน ยางอีเอ็นอาร์ 40 ได้ถูกเลือกเพื่อใช้เตรียมยางผสม 80/20
อีเอ็นอาร์/วีเออี และนาโนคอมพอสิตของ ยางผสม 80/20 อีเอ็นอาร์/วีเออี ด้วยนาโนซิลิกาปริมาณ 1, 2 และ 3 ส่วนโดยน้ำหนักยางร้อยส่วนด้วยเครื่องผสมแบบปิดและตามด้วยการบ่มในเครื่องอัดแบบที่อุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียส ผลของอัตราส่วนระหว่างซัลเฟอร์และสารบ่มเร่งต่อพฤติกรรมการบ่ม สมบัติด้านความทนแรงดึงและการอบร้อน สมบัติทางความร้อน สมบัติเชิงกลพลวัต และ
ความต้านทานน้ำมันได้ถูกตรวจสอบ โดยพบว่า พฤติกรรมการบ่มส่วนใหญ่ขึ้นกับอัตราส่วนระหว่างซัลเฟอร์และสารบ่มเร่ง การกระจายของวีเออีและนาโนซิลิกาในยางอีเอ็นอาร์ และอันตรกิริยาระหว่างนาโนซิลิกาและเมทริกซ์ของยาง ในขณะที่สมบัติด้านความทนแรงดึง สมบัติทางความร้อน และ
สมบัติเชิงกลพลวัตขึ้นกับประเภทของการเชื่อมขวาง ความหนาแน่นของการเชื่อมขวาง ความมีขั้ว การกระจายของวีเออีและนาโนซิลิกาในยางอีเอ็นอาร์ และอันตรกิริยาระหว่างนาโนซิลิกา
และเมทริกซ์ของยาง