Abstract:
การไฮโดรเทอร์มัลโคลิควิแฟกชันเป็นกระบวนการแปรรูปชีวมวลเป็นน้ำมันดิบชีวภาพ จุดเด่นของกระบวนการนี้ คือ ชีวมวลไม่จำเป็นต้องผ่านการทำแห้งก่อน แต่ร้อยละผลได้ของเชื้อเพลิงเหลวยังมีค่าไม่สูงนัก งานวิจัยนี้จึงมุ่งศึกษาการเพิ่มร้อยละผลได้ของน้ำมันชีวภาพที่ผลิตจากไฮโดรเทอร์มัลโคลิควิแฟกชันโดยใช้สารป้อนร่วมของชานอ้อยและน้ำมันพืชใช้แล้วในเครื่องปฏิกรณ์แบบกะ และประเมินผลกระทบของปัจจัยดำเนินงานต่างๆ ต่อร้อยละผลได้ของน้ำมันชีวภาพ ได้แก่ อุณหภูมิ 300 และ 350 องศาเซลเซียส อัตราส่วนโดยน้ำหนักของชานอ้อยต่อน้ำมันพืชใช้แล้วในสารป้อนร่วมเท่ากับ 1:0 3:1 1:1 1:3 และ 0:1 อัตราส่วนโดยน้ำหนักของสารป้อนต่อตัวทำละลายน้ำเท่ากับ 1:10 และ 1:20 ในการทดลองกำหนดความดันไนโตรเจนเริ่มต้นที่ 2 เมกะพาสคัล และระยะเวลาดำเนินปฏิกิริยา 1 ชั่วโมง จากการทดลองพบว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำได้ผลิตภัณฑ์น้ำมันดิบชีวภาพลดลง ที่ภาวะอุณหภูมิปฏิกิริยา 350 องศาเซลเซียส อัตราส่วนโดยน้ำหนักของชานอ้อยต่อน้ำมันพืชใช้แล้วเท่ากับ 1:3 แสดงผลเสริมกันของสารป้อนร่วมมากที่สุด องค์ประกอบของกรดไขมันในน้ำมันพืชใช้แล้วส่งผลให้ระบบมีความเป็นกรดมากขึ้น จึงทำให้เกิดการไฮโดรไลซิสของสารชีวมวลได้มากขึ้น นอกจากนี้การเพิ่มอัตราส่วนของตัวทำละลายในกระบวนการไฮโดรเทอร์มัลลิควิแฟกชันของชานอ้อย จะทำให้เกิดการแตกสลายของเซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส และลิกนินได้มากขึ้น