Abstract:
ปลากัดไทย (Betta splendens) เป็นหนึ่งในสัตว์น้ำสวยงามที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของไทย งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโคพีพอดซึ่งเป็นแหล่งของกรดไขมันไม่อิมตัวเชิงซ้อน (polyunsaturated fatty acid, PUFA) ในการเป็นอาหารมีชีวิตต่อภูมิคุ้มกันของลูกปลากัดวัยอ่อน โดยการตรวจสอบการแสดงออกของยีนภูมิคุ้มกันในปลากัดด้วยเทคนิค semi-quantitative RT-PCR จากการศึกษาพบว่าการอนุบาลลูกปลากัดด้วยโคพีพอด Apocyclops royi สามารถกระตุ้นการแสดงออกของยีนภูมิคุ้มกัน ได้แก่ ยีนเพปไทด์ต้านจุลินทรีย์ Liver-expressed antimicrobial peptide 2C (BsLEAP2C) และยีนต้านไวรัส Mitochondrial antivirus signaling (BsMAVS) ให้สูงขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยโปรตีน BsMAVS มีขนาด 569 กรดอะมิโน ประกอบด้วยโดเมนสำคัญ ได้แก่ N-terminal Caspase recruitment domain, proline-rich domain และ C-terminal transmembrane domain และพบว่าในลำไส้ปลากัดมีการแสดงออกของยีน BsMAVS สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังกระตุ้นด้วย poly(I:C) นอกจากนี้ จากการศึกษาไมโครไบโอมพบว่าการอนุบาลลูกปลากัดด้วยโคพีพอด A. royi ช่วยส่งเสริมแบคทีเรียที่ดีและลดจำนวนแบคทีเรียก่อโรคในลูกปลากัด ทำให้ลูกปลากัดมีสุขภาพที่ดีขึ้น ข้อมูลจากงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าโคพีพอด A. royi ที่อุดมด้วย PUFA มีศักยภาพในกระตุ้นการแสดงออกของยีนต้านไวรัส และปรับปรุงไมโครไบโอมของปลากัดได้