Abstract:
กุ้งก้ามกราม (Macrobrachium rosenbergii) เป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของไทย โคพีพอดเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็กอยู่ในกลุ่มครัสเตเชีย โคพีพอดมีบทบาทสำคัญเป็นอาหารธรรมชาติของสัตว์น้ำ โดยเฉพาะในการใช้อนุบาลลูกสัตว์น้ำวัยอ่อน เช่น ปลาและหอย อย่างไรก็ตาม การศึกษาการใช้โคพีพอดในการอนุบาลกุ้งก้ามกรามวัยอ่อน M. rosenbergii ยังมีอยู่อย่างจำกัด งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการใช้โคพีพอด A. royi เป็นอาหารมีชีวิตต่ออัตราการเจริญเติบโต การแสดงออกของยีน และชีวนิเวศจุลชีพของกุ้งก้ามกรามวัยอ่อน M. rosenbergii ที่เลี้ยงด้วยโคพีพอด A. royi เปรียบเทียบกับกลุ่มที่เลี้ยงด้วยอาร์ทีเมีย (กลุ่มควบคุม) ผลจากการศึกษาพบว่ากุ้งก้ามกรามวัยอ่อน M. rosenbergii ที่เลี้ยงด้วยโคพีพอด A. royi ให้เปอร์เซ็นต์น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น (PWG) และอัตราการเจริญเติบโตจำเพาะ (SGR) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่เลี้ยงด้วยอาร์ทีเมีย ทั้งนี้ จากการศึกษาลักษณะสมบัติของยีน Myostatin (MrMSTNa) ซึ่งเป็นยีนที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการเจริญเติบโต โดยทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมเชิงลบในกุ้งก้ามกราม พบว่าลำดับกรดอะมิโนของยีน MrMSTNa ในกุ้งก้ามกรามมีความเหมือนกับยีน Myostatin ของกุ้ง M. nipponense มากที่สุด และจากการศึกษาการแสดงออกของยีน MrMSTNa ในกุ้งก้ามกรามวัยอ่อน M. rosenbergii ที่เลี้ยงด้วยโคพีพอดพบมีการแสดงออกลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่เลี้ยงด้วยอาร์ทีเมีย นอกจากนี้พบว่าการแสดงออกของยีน ArLGBP มีการแสดงออกสูงขึ้นในกุ้งก้ามกรามวัยอ่อน M. rosenbergii และยีน Hsp70 ไม่พบการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ชีวนิเวศจุลชีพ พบว่าการเพิ่มขึ้นของกลุ่มแบคทีเรียที่ดี (Firmicutes) หลังจากการให้โคพีพอดเป็นอาหาร และพบการลดลงของกลุ่มแบคทีเรียที่ไม่ดี (Proteobacteria) จากข้อมูลทั้งหมดที่ได้ บ่งชี้ว่ากุ้งก้ามกรามวัยอ่อน M. rosenbergii ที่เลี้ยงด้วยโคพีพอด ช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการเจริญเติบโต และสามารถเพิ่มการแสดงออกของยีนภูมิคุ้มกัน และเพิ่มแบคทีเรียที่ดีแก่เจ้าบ้าน ผลจากการวิจัยแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของโคพีพอด A. royi ในการเป็นอาหารสัตว์น้ำวัยอ่อนทางเลือกที่เหมาะสมต่อการอนุบาลลูกกุ้งก้ามกรามวัยอ่อน