Abstract:
โคพีพอด Apocyclops royi เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็กกลุ่มครัสเตเชียน ที่นิยมนำมาเป็นอาหารมีชีวิตในการอนุบาลลูกสัตว์น้ำ โคพีพอดมีความสามารถในการสังเคราะห์กรดไขมันสายยาวไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Long chain polyunsaturated fatty acid; LC-PUFA) ผ่านการทำงานของเอนไซม์ดีเซสทูเรส (Desaturase) และอีลองเกส (Elongase) งานวิจัยนี้ได้ศึกษาลักษณะสมบัติและบทบาทของยีน desaturase-like (ArCb5D6D) ในโคพีพอด Apocyclops royi สายพันธุ์ไทย (A. royi-TH) จากการศึกษาพบว่ายีน ArCb5D6D ประกอบด้วยบริเวณ open reading frame 1323 คู่เบส ซึ่งสามารถแปลรหัสเป็นโปรตีนขนาด 440 กรดอะมิโน โดยโปรตีน ArCb5D6D ประกอบด้วยบริเวณ Cytochrome b5-like heme/steroid binding domain และบริเวณ Fatty acid desaturase domain ซึ่งมีความเหมือนกับโปรตีน desaturase-like ในกุ้งและปู 61-65% และจากการศึกษาการแสดงออกของยีน ArCb5D6D ในโคพีพอด A. royi-TH แต่ละระยะพัฒนาการ (NP: ระยะนอเพลียส, CD: ระยะโคพีโพดิด, AD: ระยะโตเต็มวัย) พบว่ายีน ArCb5D6D มีการแสดงออกสูงในโคพีพอดระยะ CD และโคพีพอดระยะ AD ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณกรดไขมัน PUFA ในโคพีพอด โดยพบปริมาณกรดไขมัน PUFA สูงสุดในโคพีพอดระยะ AD รองลงมาคือ ระยะ CD และระยะ NP ตามลำดับ จากผลการศึกษานี้สามารถบ่งชี้ได้ว่ายีน ArCb5D6D เป็นยีนในกลุ่ม desaturase-like ซึ่งมีบทบาทในชีวสังเคราะห์กรดไขมันในสิ่งมีชีวิตครัสเตเชียน นอกจากนี้งานวิจัยนี้ยังได้ศึกษาอิทธิพลของความเค็มต่อคุณค่าทางโภชนาการของโคพีพอด A. royi-TH โดยเลี้ยงโคพีพอดที่สภาวะความเค็ม 15 พีพีที (ความเค็มต่ำ) และ 25 พีพีที (กลุ่มควบคุม) จากนั้นเปรียบเทียบองค์ประกอบกรดไขมัน และการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับชีวสังเคราะห์กรดไขมันจำนวน 3 ยีน ได้แก่ ยีน ArD5D, ยีน ArD6D และยีน ArCb5D6D จากผลการศึกษาพบว่าโคพีพอด A. royi-TH ที่เลี้ยงที่ความเค็ม 15 พีพีที (ความเค็มต่ำ) มีปริมาณกรดไขมัน ARA (C20:4 n-6) และปริมาณกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 6 (n-6 PUFA) สูงกว่าโคพีพอดกลุ่มควบคุม (25 พีพีที) อย่างมีนัยสำคัญ (p < 0.05) สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์การแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับชีวสังเคราะห์กรดไขมัน พบว่าโคพีพอด A. royi-TH ที่เลี้ยงในสภาวะความเค็มต่ำ (15 พีพีที) มีค่าการแสดงออกของยีน ArD5D, ยีน ArD6D และยีน ArCb5D6D สูงกว่าโคพีพอดกลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญ (p < 0.05) จากผลการทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่าสภาวะความเครียดจากความเค็มต่ำสามารถเพิ่มการสังเคราะห์กรดไขมัน ARA ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของฮอร์โมนหลายชนิด ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการควบคุมสมดุลออสโมซิส (osmoregulation) ของสัตว์น้ำ และอาจสันนิษฐานได้ว่ายีน ArCb5D6D เป็นยีนในกลุ่ม desaturase-like ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องในวิถีการสังเคราะห์กรดไขมัน ARA ของสิ่งมีชีวิตครัสเตเชียน โดยข้อมูลเชิงลึกที่ได้จะทำให้เข้าใจถึงชีววิทยาพื้นฐานของชีวสังเคราะห์กรดไขมันสายยาวไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนของโคพีพอด และจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความสามารถในการสังเคราะห์กรดไขมันสายยาวไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนของโคพีพอด A. royi-TH