Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้ศึกษาและประเมินการอ้างเหตุผลเพื่อสิทธิสัตว์ของทฤษฎีความเป็นพลเมืองสัตว์ของซู โดนัลสัน กับวิล คิมลิคก้าในการต่อต้านทฤษฎีการเลิกทาสสัตว์ของแกรี่ ฟรานซิโอน ในบทแรกผู้วิจัยอภิปรายทฤษฎีการเลิกทาสสัตว์ของฟรานซิโอนที่ยืนยันแนวคิดว่าการปกป้องสัตว์ต้องกระทำโดย สิทธิพื้นฐานที่จะไม่ถูกปฏิบัติเป็นสิ่งของ ฟรานซิโอนอ้างว่าเหตุผลสนับสนุนพื้นฐานที่สุดของแนวคิดนี้คือการที่แนวคิดนี้แสดงออกได้ดีกว่าถึงหลักการการพิจารณาอย่างเท่าเทียม ซึ่งเป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับอยู่แล้วโดยผู้ที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการปกป้องสัตว์รูปแบบอื่นๆก่อนหน้าทฤษฎีของเขาจำนวนหนึ่ง เช่น นักทฤษฎีสวัสดิการสัตว์สายประโยชน์นิยม ปีเตอร์ ซิงเกอร์ เป็นต้น ทำให้ทฤษฎีของเขามีความได้เปรียบมากกว่าแนวคิดเหล่านั้นที่แสดงออกถึงหลักการดังกล่าวได้ดีน้อยกว่า ผู้วิจัยพบว่าการอ้างหลักการเรื่องนี้ของฟรานซิโอนรับฟังได้ แต่เนื่องจากทฤษฎีความเป็นพลเมืองสัตว์ของโดนัลสันกับคิมลิคก้ามีเนื้อหาครอบคลุมสิทธิเชิงบวกของสัตว์ที่เพิ่มเติมจากสิทธิพื้นฐานที่จะไม่ถูกปฏิบัติเป็นสิ่งของของฟรานซิโอน ผู้วิจัยจึงตั้งเป็นสมมติฐานว่าทฤษฎีอย่างหลังน่าจะมีการแสดงออกถึงการประยุกต์ใช้หลักการการพิจารณาอย่างเท่าเทียมที่ดีกว่าทฤษฎีการเลิกทาสสัตว์ ในบทที่สองผู้วิจัยวิเคราะห์และอภิปรายการอ้างเหตุผลของทฤษฎีความเป็นพลเมืองสัตว์ เพื่อตรวจสอบว่าเป็นตามสมมติฐานที่ตั้งไว้หรือไม่ และพบว่าเป็นจริงตามนั้น ทฤษฎีนี้มีแนวคิดเรื่องการแยกสัตว์ออกเป็น 3 กลุ่มคือ สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า และสัตว์กึ่งป่า และแนวทางการปฏิบัติต่อสัตว์สามกลุ่มนี้ในแบบที่สอดคล้องกับความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันที่พวกมันมีต่อมนุษย์ โดยอยู่ภายใต้กรอบคิดเรื่องความเป็นพลเมืองอันเดียวกันที่ประยุกต์มาจากแนวคิดเรื่องความเป็นพลเมืองที่ใช้กับมนุษย์ ทำให้มีการแสดงออกถึงการประยุกต์ใช้หลักการดังกล่าวได้ดีกว่าทฤษฎีการเลิกทาสสัตว์ที่ไม่มีการแยกแยะในลักษณะเดียวกันนี้ ในท้ายบทที่สองผู้วิจัยได้ตอบข้อคัดค้านของโคเครน ฮอร์ต้า และแลดวิกที่ชี้ให้เห็นข้อจำกัดของทฤษฎีความเป็นพลเมืองสัตว์ในเรื่องการนำแนวคิดความเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดเหนือเขตแดนและความสามารถทางการรู้คิดที่จำเป็นสำหรับการมองตนเองเป็นสมาชิกร่วมชุมชนและการออกระเบียบต่อตนเองไปใช้กับกรณีของสัตว์ป่า การตอบข้อคัดค้านเหล่านี้โดยชี้ว่าเรื่องที่ถูกวิจารณ์นี้ไม่ได้มีพื้นฐานอยู่บนการเทียบเคียงความเหมือนระหว่างสัตว์ป่ากับมนุษย์ตามที่ผู้วิจารณ์เหล่านี้เข้าใจนั้นช่วยให้ได้ความเข้าใจที่หนักแน่นและมีการแยกแยะมากขึ้นเกี่ยวกับทฤษฎีความเป็นพลเมืองสัตว์ ในบทที่สามผู้วิจัยวิเคราะห์และอภิปรายข้อโต้แย้งที่ชี้ว่าทฤษฎีความเป็นพลเมืองสัตว์ยังคงหนีไม่พ้นการละเมิดหลักการการพิจารณาอย่างเท่าเทียมในบางเรื่อง และในบทที่สี่แสดงการประเมินของผู้วิจัยที่ให้ผลว่าแม้ว่าทฤษฎีนี้จะละเมิดหลักการการพิจารณาอย่างเท่าเทียมในบางเรื่องจริงตามข้อโต้แย้งของเซาแธน แต่โดยรวมแล้วยังคงถือว่ามีการแสดงออกถึงการประยุกต์ใช้หลักการพิจารณาอย่างเท่าเทียมได้ดีกว่าทฤษฎีการเลิกทาสสัตว์ของฟรานซิโอน