Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาคำอธิบายเรื่องความเชื่อใจจากทฤษฎีแบบรู้คิดและทฤษฎีที่ไม่ใช่แบบรู้คิด เพื่อตอบคำถามว่าความเชื่อใจในความหมายใดที่สามารถนำไปสู่ปฏิสัมพันธ์แบบการกระทำร่วมระหว่างคนแปลกหน้าได้ กรณีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนแปลกหน้าที่วิทยานิพนธ์นี้สนใจคือเมื่อฝ่ายหนึ่งเป็นผู้มาเยือนในถิ่นฐานใหม่ ฝ่ายที่มาใหม่จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากคนท้องถิ่น แต่คนท้องถิ่นไม่มีความจำเป็นต้องร่วมมือด้วยกับผู้ที่มาใหม่นั้น คำอธิบายแบบทฤษฎีเกมกล่าวว่าพวกเขาสามารถที่จะร่วมมือกันได้บนฐานที่พบว่าความร่วมมือนั้นจะนำไปสู่ผลประโยชน์สูงสุดแก่แต่ละฝ่ายโดยต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน แต่คนแปลกหน้าในกรณีที่ศึกษานี้ ต่างฝ่ายต่างย่อมมิอาจรู้ได้ว่าการร่วมมือกับอีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะตอบสนองต่อผลประโยชน์ที่พึงปรารถนาเมื่อมีการปฏิสัมพันธ์เกิดขึ้นระหว่างกันได้หรือไม่ คำอธิบายของทฤษฎีแบบรู้คิดของรัสเซลล์ ฮาร์ดินกล่าวว่าการเชื่อใจเกิดขึ้นได้เมื่อบุคคลหนึ่งมีคุณสมบัติไว้ใจได้ที่เกิดจากการถูกกำกับโดยเงื่อนไขทางสถาบันเช่น กฎหมาย และเงื่อนไขทางสังคมที่มีอยู่ในสังคมที่จูงใจอยู่ แต่คนแปลกหน้าในกรณีที่ศึกษานี้ ฝ่ายหนึ่งถูกกำกับโดยเงื่อนไขทางกฎหมายและสังคม ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งจะเข้ามาสู่การกำกับโดยเงื่อนไขนี้ได้จำเป็นต้องได้รับความเชื่อใจก่อน การกำกับดังกล่าวจึงไม่อาจใช้เป็นพื้นฐานให้สำหรับความเชื่อใจ คำอธิบายของมารูซิคกล่าวว่าการเชื่อใจเกิดขึ้นได้โดยการเห็นคนที่ถูกเชื่อใจในฐานะที่เขาเป็นผู้กระทำผู้ที่ตั้งมั่นที่จะทำบางสิ่งให้สำเร็จ แต่สำหรับมารูซิคคนที่จะถูกมองเห็นเช่นนี้ได้ต้องเป็นผู้ที่อยู่ในความสัมพันธ์กับผู้ที่เชื่อใจตนอยู่แล้ว คำอธิบายแบบทฤษฎีที่ไม่ใช่แบบรู้คิดของแบร์อ้างจากความเปราะบางซึ่งจะทำให้การมอบความเชื่อใจให้เป็นการสูญเสียการควบคุมซึ่งคนมีเหตุมีผลอาจจะต้องการหลีกเลี่ยง ส่วนคำอธิบายของโจนส์กล่าวว่าการเชื่อใจคือการมีจุดยืนในทางบวกต่อเจตนาดีและความสามารถของผู้อื่นที่ก่อตัวได้เองจากพื้นฐานที่ไม่ใช่หลักฐานตามปรกติ ทำให้สามารถตอบสนองเงื่อนไขเรื่องความมีเหตุมีผลเชิงความเชื่อและความมีเหตุมีผลเชิงปฏิบัติสำหรับทั้งฝ่ายผู้มาเยือนและคนท้องถิ่นได้