Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามโนทัศน์อิสรภาพและการเล่นในคัมภีร์จวงจื่อ และเสนอว่ากรอบวิเคราะห์การเล่นใน 6 แง่มุมความหมายของการเล่นในคัมภีร์จวงจื่อ อันได้แก่ การเล่นในฐานะการกระทำ การเล่นในฐานะการมีปฏิสัมพันธ์ การเล่นในฐานะกิจกรรม การเล่นในฐานะท่าที การเล่นในฐานะประสบการณ์ และการเล่นในฐานะบริบท การวิเคราะห์การเล่นใน 6 แง่มุมดังกล่าวจะช่วยขับเน้นความเข้าใจต่อมโนทัศน์อิสรภาพในคัมภีร์จวงจื่อได้ชัดเจนว่า มิได้มีเพียงมิติเดียว นั่นคือ อิสรภาพในเชิงการคิดและอารมณ์ความรู้สึกซึ่งผ่านกระบวนการแปรเปลี่ยนทางจิตวิญญาณเพียงเท่านั้น แต่ยังมีอีกมิติและโดดเด่นด้วยการเล่น นั่นคือ อิสรภาพที่เกี่ยวข้องกับการจัดการชีวิตและสิ่งแวดล้อมเพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่าง โดยวิทยานิพนธ์เล่มนี้ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเล่นและอิสรภาวะของผู้เล่น หรือ มนุษย์ที่แท้ว่า การฝึกฝนการเล่นเป็นการเสริมอำนาจให้คนทั่วไป ตลอดจนคนต้อยต่ำสามารถ “ปรับใช้” และส่งผ่านความชำนาญในการเล่นอันมีความว่างเป็นลักษณะสำคัญไปสู่การเล่นในพื้นที่ส่วนตัวสู่พื้นที่การเมืองที่ใหญ่ขึ้นได้ มนุษย์ที่แท้ผู้สามารถเล่นได้อย่างแท้จริงย่อมสามารถยังผลสำเร็จได้ในทุกพื้นที่ที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องและผดุงชีวิตตนและสิ่งที่ร่วมเล่นเอาไว้ได้ สุดท้ายนี้ การเล่นเป็นข้อเสนอของจวงจื่อที่เชิญชวนมนุษย์ปลดเปลื้องพันธนาการต่างๆ ซึ่งส่วนมากจำกัดโดยความรู้และชุดความเข้าใจของตนให้เปิดกว้างต่อความเป็นไปได้ต่างๆ ในชีวิตท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายอย่างขี้เล่น รื่นรมย์ และเปี่ยมด้วยอิสรภาวะ