Abstract:
หลังจากประกาศใช้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ทำให้หนังสือเรียนวิชาสุขศึกษาส่วนใหญ่มีการปรับปรุงและแก้ไขเนื้อหาบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาวะต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกลวิธีทางภาษากับภาพตัวแทนเพศสภาวะต่าง ๆ และศึกษาวิถีปฏิบัติทางวาทกรรมและวิถีปฏิบัติทางสังคมวัฒนธรรมของหนังสือเรียนวิชาสุขศึกษา ชั้นมัธยมศึกษา ตามแนววาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ โดยเก็บข้อมูลจากสำนักพิมพ์ 5 สำนักพิมพ์ ได้แก่ พัฒนาคุณภาพวิชาการ วัฒนาพานิช สกสค. อักษรเจริญทัศน์ และเอมพันธ์ รวมทั้งสิ้น 30 เล่ม
ผลการศึกษาพบว่าหนังสือเรียนวิชาสุขศึกษามีการใช้กลวิธีทางภาษาที่หลากหลาย ได้แก่ การอ้างถึง การใช้คำและกลุ่มคำที่ปรากฏร่วมกัน การใช้น้ำเสียงที่มีอำนาจ การสร้างสถานการณ์หรือบทสนทนาสมมุติ การใช้มูลบท การปฏิเสธมูลบท การยกตัวอย่าง การใช้สหบท และการใช้การเชื่อมโยงระหว่างประโยค กลวิธีทางภาษาดังกล่าวนำเสนอภาพตัวแทนเพศสภาวะต่าง ๆ ทั้งภาพตัวแทนผู้หญิง เช่น ผู้หญิงเป็นผู้ที่มีพื้นที่ภายในบ้าน ผู้หญิงมักแสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึก ภาพตัวแทนผู้ชาย เช่น ผู้ชายบางส่วนมักใช้ความรุนแรงและในบางครั้งมักข้องเกี่ยวกับอบายมุข ผู้ชายควรเป็นสุภาพบุรุษ ภาพตัวแทนความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย เช่น ผู้หญิงถูกคุกคามหรือถูกกระทำ ผู้ชายเป็นผู้ที่คุกคามและกระทำ ผู้หญิงมีสถานะทางสังคมเท่าเทียมกับผู้ชายมากขึ้น และภาพตัวแทนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมีสถานะทางสังคมเท่าเทียมกับเพศสภาวะอื่นมากขึ้น ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศยังไม่เท่าเทียมกับเพศสภาวะอื่น ภาพตัวแทนผู้หญิงและผู้ชายที่พบในหนังสือเรียนวิชาสุขศึกษามีทั้งภาพตัวแทนที่ซ้ำเดิมและภาพตัวแทนที่นำเสนอประเด็นใหม่ ส่วนภาพตัวแทนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แม้ว่าจะมีการนำเสนออย่างเปิดเผยในหนังสือเรียน แต่ภาพตัวแทนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศบางส่วนยังนำเสนอถึงทัศนคติเชิงลบที่แฝงอยู่ที่อาจส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ แสดงให้เห็นว่าแม้ว่าหนังสือเรียนวิชาสุขศึกษาจะมีความเปิดกว้าง แต่ก็ยังมีภาพตัวแทนบางส่วนที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าหนังสือเรียนสุขศึกษาไม่ได้มุ่งเน้นแต่เพียงการให้ความรู้ในรายวิชา แต่ยังมีการแฝงความคิดและทัศนคติบางประการของผู้เขียนไว้อีกด้วย
ผลการศึกษาวิถีปฏิบัติทางวาทกรรมพบว่าหนังสือเรียนผลิตโดยผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตจากรัฐ ทำให้เนื้อหาในหนังสือเรียนได้รับการยอมรับว่าถูกต้องและน่าเชื่อถือ ผู้เรียนน่าจะมีแนวโน้มที่จะรับความคิดเรื่องเพศสภาวะด้วยเช่นกัน ส่วนผลการศึกษาวิถีปฏิบัติทางสังคมและวัฒนธรรมพบว่าความคิดเดิมของคนในสังคม กฎหมาย สื่อ และเหตุการณ์ในสังคม มีส่วนในการประกอบสร้างภาพตัวแทนเพศสภาวะต่าง ๆ ในหนังสือเรียน เมื่อพิจารณาเทียบกับเหตุการณ์ในสังคมที่แสดงให้เห็นการปรับเปลี่ยนความคิดเรื่องเพศสภาวะแล้ว พบว่าการปรับปรุงเนื้อหาของหนังสือเรียนสุขศึกษาแม้จะแสดงพัฒนาการที่สำคัญแต่ก็อาจจะยังปรับเปลี่ยนได้ไม่ทันการเปลี่ยนแปลงในสังคม
กล่าวโดยสรุป หนังสือเรียนนับว่าเป็นวาทกรรมที่มีผลต่อสังคมในวงกว้าง และภาษามีส่วนในการประกอบสร้างภาพตัวแทนเพศสภาวะต่าง ๆ ซึ่งส่งผลต่อความรับรู้และทัศนคติของคนในสังคม ดังนั้นผู้ผลิตตัวบทจึงควรระมัดระวังในการนำเสนอเนื้อหาเพื่อไม่ให้เกิดอคติขึ้นต่อเพศสภาวะใดเพศสภาวะหนึ่ง