Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ต้องการศึกษาทหารรับจ้างไทยในสงครามลับในลาวที่ปรากฏผ่านสารนิยายของประจิม วงศ์สุวรรณหรือเจ้าของนามปากกาว่า “สยุมภู ทศพล” โดยมุ่งเน้นประเด็นในการศึกษาไปที่ภาพลักษณ์ในตัวทหารรับจ้าง 3 แบบที่สยุมภูได้นำเสนอเอาไว้ในงานเขียนของตน อันได้แก่ ภาพวีรบุรุษ, เหยื่อ, และ คนธรรมดา
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอว่า การรับรู้ของสังคมไทยที่มีต่อบรรดาทหารรับจ้างไทยที่ไปรบในสงครามลับในลาวออกไปในทางคลุมเครือเสียส่วนใหญ่ และค่อนข้างไปในทางลบ สืบเนื่องมาจากทางรัฐบาลไทยต้องการปกปิดตัวตนของทหารกลุ่มรับจ้างกลุ่มนี้เพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยความเป็นกลางของลาว ในขณะเดียวกันสังคมไทยกลับให้ความสนใจและเชิดชูบรรดาทหารไทยในสงครามเวียดนามมากกว่า เพราะตัวตนของทหารไทยในสงครามเวียดนามไม่ได้ถูกปกปิดตัวตนเฉกเช่นเดียวกับทหารรับจ้างไทยในสงครามลับในลาว ดังนั้น เพื่อไม่ให้สังคมไทยลืมเลือนการมีตัวตนอยู่ของทหารรับจ้างไทยในลาว สยุมภูจึงออกมาเปิดเผยเรื่องราวของทหารรับจ้างในลาวกลุ่มนี้ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขว้าง พร้อมทั้งนำเสนอภาพลักษณ์ของทหารในแง่ที่ดีมากยิ่งขึ้น โดยนำเสนอว่าทหารรับจ้างล้วนแต่เป็นวึรบุรุษที่ไปรบเพื่อประเทศชาติ ไม่ใช่คนที่ไปรบเพื่อเงินค่าจ้างของพวกอเมริกันอย่างที่สังคมเข้าใจกัน สยุมภูบอกต่อด้วยว่าทหารรับจ้างไทยในสงครามลับในลาวตกอยู่ในสถานะเหยื่อผู้ถูกกระทำเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเหยื่อของสงครามหรือเหยื่อจากการกดขี่ของผู้บังคับบัญชาทั้งจากฝ่ายไทยและฝ่ายอเมริกัน นอกจากนี้สยุมภูก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าทหารรับจ้างนั้นทำเพื่อเงิน เพราะตัวทหารรับจ้างเองก็เป็นคนธรรมดาที่มีความต้องการเหมือนมนุษย์ทั่วไป