Abstract:
งานวิจัยนี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาแนวทางการจัดการมูลฝอยโดยเน้นการคัดแยกมูลฝอยและจัดการที่แหล่งกำเนิด เพื่อหาทางเลือกการจัดการมูลฝอยที่เหมาะสมทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐศาสตร์ โดยงานวิจัยนี้ทำการศึกษาในอาคารสถานประกอบการทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต คอนโดมิเนียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงแรม ซึ่งมีแนวทางการจัดการมูลฝอยทั้งหมด 5 ทางเลือก ได้แก่ ทางเลือกที่ 1 การฝังกลบ ทางเลือกที่ 2 การรีไซเคิลและการฝังกลบ ทางเลือกที่ 3.1 การรีไซเคิล การผลิตก๊าซชีวภาพ และการฝังกลบ ทางเลือกที่ 3.2 การรีไซเคิล การนำเศษอาหารไปทำอาหารสัตว์ และการฝังกลบ และทางเลือกที่ 4 การรีไซเคิล การผลิตก๊าซชีวภาพ การผลิตเชื้อเพลิงมูลฝอยอัดแท่ง (RDF) และการฝังกลบ โดยในงานวิจัยนี้ใช้วิธีประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (TGO) และกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) และคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) และประเมินความเหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์โดยใช้การประเมินต้นทุนการบำบัดมลพิษ (Abatement cost) จากผลการศึกษาพบว่าองค์ประกอบทางกายของกรณีศึกษาซูเปอร์มาร์เก็ตพบเศษอาหารมากที่สุดร้อยละ 35 และแนวทางการจัดการมูลฝอยที่เหมาะสม คือ ทางเลือกที่ 4 สำหรับกรณีศึกษาคอนโดมิเนียมมีองค์ประกอบทางกายภาพของมูลฝอยเป็นเศษอาหารมากที่สุดร้อยละ 53.62 และการจัดการมูลฝอยที่เหมาะสม คือ ทางเลือกที่ 2 สำหรับกรณีศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ องค์ประกอบมูลฝอยพบกระดาษมากสุดร้อยละ 33 สำหรับแนวทางการจัดการมูลฝอยที่เหมาะสม คือ ทางเลือกที่ 2 และกรณีศึกษาสุดท้าย คือ โรงแรมพบองค์ประกอบมูลฝอยมีเศษอาหารมากสุดร้อยละ 29 โดยการจัดการมูลฝอยที่เหมาะสม คือ แนวทางเลือกที่ 2 จากการศึกษาสรุปได้ว่าอาคารแต่ละประเภทมีลักษณะการดำเนินกิจกรรมที่แตกต่างกัน ส่งผลให้องค์ประกอบมูลฝอยมีความแตกต่างตามไปด้วย จึงทำให้การจัดการมูลฝอยแต่ละประเภทอาคารมีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน