Abstract:
การสำรวจชนิดของยุงในฟาร์มสุกรที่มีการระบาดของเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส จังหวัดนครปฐม ทำการเก็บตัวอย่างยุงทุกเดือนละ 1 ครั้ง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2547 ถึงเดือนเมษายน 2548 โดยทำการเก็บตัวอ่อนยุงจากแหล่งน้ำภายในระยะรัศมี 1 กิโลเมตรรอบฟาร์ม และดูดเก็บยุงตัวเต็มวัยตัวเมียขณะดูดเลือดบนตัวสุกรโดยใช้ oral aspirators ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น. พบว่ายุงที่จับได้จำนวน 91,840 ตัว จำแนกได้ 3 สกุล 6 ชนิด คือ Culex tritaeniorhynchus, Cx. Gelidus, Mansonia uniformis, Ma. Annulifera, Anopheles vagus และ An. Peditaeniatus โดยยุงที่พบได้มากที่สุดคือยุง Cx. Tritaeniorhynchus (60-95.75%) และยุงที่พบน้อยที่สุดคือยุง Ma. Annulifera (0.02-0.05%) ผลการตรวจตัวอ่อนจากแหล่งน้ำพบตัวอ่อนของยุง Cx. Tritaeniorhynchus, Cx. Gelidus, An. Vagus และ An. Peditaeniatus การทดสอบศักยภาพในการนำเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส ของยุง Cx. Tritaeniorhynchus แบ่งเป็น 2 การทดลองคือ การทดสอบระยะเวลาที่ตรวจพบเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส ของยุง และการทดสอบความสามารถในการนำเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส ของยุงจากสุกรทดลองฉีดเชื้อไปยังสุกรปลอดเชื้อ จากการทดลองแรกพบว่าสามารถตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส ในยุง Cx. Tritaeniorhynchus ได้นาน 48 ชั่วโมง ด้วยวิธี RT-PCR และเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส สามารถมีชีวิตในยุง Cx. Tritaeniorhynchus ได้นาน 2 ชั่วโมง ภายหลังการกัดและดูดเลือดสุกรทดลองฉีดเชื้อ และผลการทดสอบความสามารถในการนำเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส โดยนำยุงติดเชื้อมากัดและดูดเลือดสุกรปลอดเชื้อโดยตรง ตรวจไม่พบเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส ในสุกรทุกตัว ในขณะที่พบผลบวกต่อเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส ในที่สุกรปลอดเชื้อที่ได้รับการฉีดตัวอย่างยุงบดหลังการกัดและดูดเลือดสุกรทดลองฉีดเชื้อ 30 นาที ด้วยวิธี RT-PCR และ ELISA ผลจากการศึกษาในครั้งนี้พบว่ายุง Cx. Tritaeniorhynchus พบได้มากที่สุดในฟาร์มสุกรมีแนวโน้มนำเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส แบบทางกลได้ และไม่สามารถแพร่เชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส โดยการกัดหรือดูดเลือดได้