Abstract:
จากงานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาผลของ ไตรเมทิลลอลโพรเพน ไตรเมทาคิเลต (TMPTMA) ต่อสมบัติทางกายภาพและทางความร้อนของยางธรรมชาติที่ผ่านการเชื่อมขวางโดยการรวมเทคนิคของการฉายลำอิเล็กตรอนและกระบวนการอบแห้งแบบพ่นฝอย โดยยางธรรมชาติจะถูกทำให้คงรูปด้วยปริมาณการฉายลำอิเล็กตรอนตั้งแต่ 0 – 350 กิโลเกรย์ จากผลการทดลองพบว่า ปริมาณเจล ความหนาแน่นในการเชื่อมขวาง อุณหภูมิการเปลี่ยนสถานะคล้ายแก้ว และอุณหภูมิการสลายตัวทางความร้อนที่การสูญเสียน้ำหนัก 5 % ของยางธรรมชาติที่ผ่านการวัลคาไนซ์ จะมีค่าเพิ่มสูงขึ้นด้วยการเพิ่มขึ้นของปริมาณลำอิเล็กตรอนและปริมาณสารโคเอเจนต์ โดยมีค่าสูงที่สุดเมื่อถูกวัลคาไนซ์ด้วยปริมาณลำอิเล็กตรอนเป็น 350 กิโลเกรย์และที่ปริมาณการเติม 9 phr และยังพบว่าสัดส่วนการบวมตัวและค่าน้ำหนักโมเลกุลของยางระหว่างการเชื่อมขวางจะมีค่าต่ำที่สุดอีกด้วย เนื่องจากเกิดการเชื่อมขวางอย่างสมบูรณ์ของน้ำยางธรรมชาติเกิดเป็นโครงสร้างเชื่อมขวางเป็นร่างแหแบบสามมิติ (three-dimensional structure) อีกทั้งอนุภาคยางละเอียดยิ่งยวดที่วัลคาไนซ์อย่างสมบูรณ์ของยางธรรมชาติจะถูกใช้เป็นสารตัวเติมเพิ่มความเหนียวในพอลิเมอร์
ชนิดพอลิเบนซอกซาซีน ผลของความทนทานต่อแรงกระแทกของพอลิเบนซอกซาซีนคอมพอสิทจะมีค่าสูงที่สุดเมื่อเติมด้วยยางธรรมชาติที่ถูกวัลคาไนซ์ด้วยปริมาณลำอิเล็กตรอน 350 กิโลเกรย์ และค่าความทนทานต่อแรงกระแทกของพอลิเบนซอกซาซีนคอมพอสิทที่ถูกปรับปรุงความเหนียวด้วยอนุภาคยางที่มีการเติมโคเอเจนต์จะมีค่าสูงสุดที่ปริมาณการเติมโคเอเจนต์ที่ 3 phr จากผลการทดลองนี้ สรุปได้ว่าอนุภาคยางที่วัลคาไนซ์อย่างสมบูรณ์จะสามารถปรับปรุงความต้านทานต่อแรงกระแทกของพอลิเบนซอกซาซีนคอมพอสิท รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นสารตัวเติมเพิ่มความเหนียวในพอลิเบนซอกซาซีนได้อีกด้วย