Abstract:
ในการก่อสร้างถนนแอสฟัลต์อิมัลชันสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดได้แก่ ชนิดประจุไฟฟ้าเป็นบวก (Cationic Asphalt Emulsion) และ ชนิดประจุไฟฟ้าเป็นลบ (Anionic Asphalt Emulsion) โดยประจุไฟฟ้าของแอสฟัลต์อิมัลชันสามารถส่งผลต่อการยึดเกาะระหว่างมวลรวมชนิดต่างๆ เนื่องด้วยมวลรวมแต่ละชนิดก็มีประจุไฟฟ้าที่แตกต่างกันไป ในการออกแบบถนนนั้นความชื้นก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องคำนึงเนื่องจากความชื้นจะทำให้ถนนมีความแข็งแรงที่ลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบหลักที่จะก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น เนื่องจากความชื้นจะทำลายการยึดเกาะระหว่างผิวของวัสดุมวลรวมกับแอสพัลต์ ทำให้เกิดการหลุดลอกของวัสดุมวลรวมจากผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีต และเพื่อหลีกเลี่ยงการหลุดลอกของผิวถนนซึ่งอาจก่อให้เกิดผิวทางชำรุดก่อนเวลาอันควร งานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นที่จะศึกษาและประเมินคุณสมบัติด้านความต้านทานการหลุดลอก และ คุณสมบัติด้านความต้านทานความเสียหายเนื่องจากความชื้น โดยใช้การทดสอบ Rolling Bottle Test และ Indirect Tensile strength test ซึ่งจะนำแอสฟัลต์อิมัลชันทั้งชนิดประจุบวกและประจุลบ รวมไปถึงการใช้น้ำยางธรรมชาติเป็นส่วนผสม และใช้มวลรวมทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ หินปูนชลบุรี หินปูนสระบุรี และ หินบะซอลต์บุรีรัมย์ โดยในการทดสอบพบว่า แอสฟัลต์อิมัลชันต่างชนิดกันมีผลต่อความต้านทานการหลุดลอกของมวลรวมแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และการเติมน้ำยางธรรมชาติที่ 10% นั้นสามารถเพิ่มค่าความต้านทานการหลุดลอกของหินปูนทั้ง 2 ชนิดได้แต่จะมีค่าลดลงในการเติม 20% และสำหรับในหินบะซอลต์นั้นมีค่าลดลงทั้ง 10% และ 20% ของการเติมน้ำยางพารา และ จากผลการทดสอบ ITS พบว่าสำหรับหินทั้งสามชนิด เมื่อนำไปใช้งานกับแอสฟัลต์อิมัลชันชนิดแอนไอออนิกมีค่าความต้านทานความเสียหายเนื่องจากความชื้นสูงกว่าแอสฟัลต์อิมัลชันชนิดแคทไอออนิก และสำหรับการเติมน้ำยางพาราที่ 10% ทำให้ค่าความต้านทานความเสียหายเนื่องจากความชื้นลดลงเมื่อเทียบกับการที่ไม่เติม