Abstract:
งานวิจัยนี้มุ่งเน้นการปรับปรุงการขนส่งภายในของชิ้นส่วนรถยนต์ในโรงประกอบกรณีศึกษา ปัจจุบันมีอัตราการใช้ประโยชน์ของรถลากไฟฟ้า (E-car) อยู่เพียง 68% โดยพนักงานขับรถลากไฟฟ้า (E-car) จะนำกล่องชิ้นส่วนไปส่งแต่ละจุดความต้องการ (Address) ทั้งหมด 27 จุดตามเส้นทางที่กำหนดไว้ 20 เส้นทาง ซึ่งยังไม่มีประสิทธิภาพเพราะทำให้ระยะทางรวมของเส้นทางการขนส่งมากและใช้รถลากไฟฟ้า (E-car) สำหรับขนส่งทั้งหมด 24 คัน งานวิจัยนี้ประยุกต์วิธีการออกแบบเส้นทางด้วยรูปแบบปัญหา Capacitated Vehicle Routing Problem (CVRP) ซึ่งวัตถุประสงค์สำหรับการออกแบบเส้นทางนี้ เพื่อให้ระยะทางรวมของเส้นทางการขนส่งภายในน้อยที่สุด และยังตอบสนองความต้องการใช้ชิ้นส่วนแต่ละจุดความต้องการ (Address) ได้โดยใช้ปัจจัยนำเข้าเช่น ปริมาณความต้องการใช้ชิ้นส่วน (Demand) แต่ละจุดความต้องการ (Address) ความสามารถในการบรรทุกของรถลากไฟฟ้า (E-car) ระยะทางของแต่ละจุดความต้องการ ผลการจัดเส้นทางใหม่จะได้เส้นทางการขนส่งภายใน 12 เส้นทาง โดยมีการทดสอบรอบเวลาการขนส่งตามเส้นทางการขนส่งแบบใหม่แต่ละรอบคำสั่งซื้อรายวัน เพื่อทำให้มั่นใจว่าเส้นทางที่ออกแบบใหม่นั้นสามารถใช้งานได้จริง ตามปริมาณความต้องการใช้ชิ้นส่วน (Demand) ที่คงที่ของแต่ละจุดความต้องการ (Address) ในโรงงานประกอบ จากการทดสอบพบว่า เส้นทางการขนส่งแบบใหม่สามารถทำให้ระยะทางรวมในการขนส่งชิ้นส่วนต่อรอบคำสั่งซื้อลดลง 26% และมีอัตราการใช้ประโยชน์ของรถลากไฟฟ้า (E-car) เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 90% หรือมากขึ้นกว่าเดิม 22%