Abstract:
งานวิจัยนี้ศึกษาการสร้างเม็ดตะกอนจุลินทรีย์แบบใช้อากาศและอัตราการบำบัดของน้ำเสียที่มีแอมโมเนียมสูง ผลการทดลองพบว่าเกิดเม็ดตะกอนจุลินทรีย์แบบใช้อากาศในน้ำเสียแอมโมเนียมสูง (200 mg-N/l) มีลักษณะใกล้เคียงกันกับน้ำเสียแอมโมเนียมต่ำ (50 mg-N/l) ระบบมีค่าดัชนีปริมาตรตะกอนเฉลี่ย (SVI) ในถังปฏิกรณ์ที่ 1 และ 2 เท่ากับ 23.07±3.1 และ 20.46±2.7 มิลลิลิตรต่อกรัมตามลำดับ ค่าปริมาณของแข็งแขวนลอย (MLSS) ในถังปฏิกรณ์ที่ 1 และ 2 เท่ากับ 10,784±608 และ 11,067±678 มิลลิกรัมต่อลิตรตามลำดับ ความเข้มข้นตะกอนก้นถังในถังปฏิกรณ์ที่ 1 และ 2 เท่ากับ 33,732±2468 และ 34,696±1741 มิลลิกรัมต่อลิตรตามลำดับ พบขนาดเม็ดตะกอนในถังฏิกรณ์ที่ 1 และ 2 เท่ากับ 3.4±0.9 และ 4.5±1.0 มิลลิเมตร ความหนาแน่นของตะกอนจุลินทรีย์เท่ากับ 1.166±0.01 กรัมต่อมิลลิลิตร โครงสร้างตะกอนอัดแน่นและมีการกระจายตัวทั่วถังปฏิกรณ์ทั้งสองถังเมื่อเดินระบบเป็นระยะเวลา 85 วัน เม็ดตะกอนจุลินทรีย์แบบใช้อากาศที่เกิดขึ้นสามารถบำบัดน้ำเสียแอมโมเนียมความเข้มข้น 200 mg-N/l ภายใน 2 วัน อัตราการบำบัดเป็นไปตาม Monod’s kinetic โดยมีค่าอัตราการบำบัดแอมโมเนียมสูงสุด (Km) เท่ากับ 33.9±3.3 มิลลิกรัมไนโตรเจนต่อลิตรต่อชั่วโมงและความเข้มข้นแอมโมเนียมที่อัตราการย่อยสลายครึ่งหนึ่งของอัตราการย่อยสลายสูงสุด (Ks) เท่ากับ 67.9±15.9 มิลลิกรัมต่อลิตร