Abstract:
ในปี พ.ศ. 2562 องค์การอนามัยโลกระบุว่าการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 8 ของโลกและอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยอยู่ในอันดับสูงที่สุดในอาเซียน ทั้งนี้สัดส่วนผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยเป็นผู้เสียชีวิตที่เกิดจากรถจักรยานยนต์มากที่สุด การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการขับขี่จักรยานยนต์และทัศนคติต่อการรับรู้ความเสี่ยงและศึกษาปัจจัยที่อิทธิพลต่อพฤติกรรมการขับรถเร็วเกินอัตรากำหนดของผู้ขับขี่จักรยานยนต์ประเภทพนักงานส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยปัจจัยที่สนใจ ได้แก่ ลักษณะทางประชากร ทัศนคติต่อการขับรถเร็ว พฤติกรรมการขับขี่รถจักรยานยนต์เร็วเกินอัตรากำหนด การรับรู้ความเสี่ยง ความเครียดและความเหนื่อยล้าขณะทำงาน ทัศนคติต่อการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่ ระยะเวลาและความถี่ในการเดินทาง ซึ่งทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามกระดาษ โดยแบบสอบถามอ้างอิงตามทฤษฎีพฤติกรรมตามแผน (The theory of planned behavior: TPB) จำนวน 450 ตัวอย่าง วิเคราะห์ด้วยแบบจำลองสมการโครงสร้าง (Structural equation model: SEM) พบว่า ทุกปัจจัยส่งผลทางตรงต่อพฤติกรรมการขับขี่รถจักรยานยนต์เร็วเกินอัตรากำหนด ยกเว้น ทัศนคติต่อการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่ ระยะเวลาและความถี่ในการเดินทาง ที่ส่งผลทางอ้อมผ่านปัจจัยอื่นๆ ทั้งยังพบว่าระยะเวลาในการทำงานที่ต่างกันทำให้มีการรับรู้ความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ระดับการศึกษาที่ต่างกันทำให้มีการรับรู้ความเสี่ยงและทัศนคติต่อการขับรถเร็วที่แตกต่างกัน โดยผู้ที่มีระดับการศึกษาสูงขึ้นมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมการขับรถเร็วเกินอัตรากำหนดต่ำลง และพบว่าจำนวนช่องจราจรมีผลต่อพฤติกรรมการขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด ผลการวิจัยนี้สามารถนำมาเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและมาตรการด้านความปลอดภัยบนท้องถนนสำหรับผู้ขับขี่จักรยานยนต์ประเภทพนักงานส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่