Abstract:
ในปีค.ศ.2020 - 2022 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมากจากโควิด-19 การประกาศใช้มาตรการเพื่อควบคุมสถานะการณ์แพร่ระบาดส่งผลให้หลายธุรกิจขาดทุนสะสมและปิดกิจการลง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ข้อมูลการสัญจรด้วยเท้าที่ใช้ในงานวิจัยนี้ได้จากการติดตามโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบนิรนามร่วมกับระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลกด้วยดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบธุรกิจในเขตวัฒนา จังหวัดกรุงเทพฯ โดยเป้าหมายของงานวิจัย คือ ศึกษาและเปรียบเทียบประเภทธุรกิจด้วยรูปแบบการสัญจรด้วยเท้า ซึ่งจัดกลุ่มขนาดสถานที่ตามจำนวนการสัญจรด้วยเท้าเฉลี่ยต่อวันแล้วเปรียบเทียบด้วยเงื่อนไขความแตกต่างระหว่างอัตราส่วนค่าเฉลี่ยการสัญจรด้วยเท้าของกลุ่มและสถานที่ อีกทั้งข้อมูลการสัญจรด้วยเท้าสามารถวิเคราะห์ผลกระทบประกาศมาตรการจากรัฐบาล และการฟื้นตัวธุรกิจโดยการเปรียบเทียบความแตกต่างปริมาณการสัญจรด้วยเท้าด้วยสถิติทดสอบ Friedman และ Wilcoxon Signed-Rank จากงานวิจัยนี้พบว่าธุรกิจแต่ละประเภทมีรูปแบบการสัญจรด้วยเท้าค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์และสัมพันธ์กับจำนวนการสัญจรด้วยเท้าเฉลี่ยต่อวัน ผลการเปรียบเทียบสถานที่ตัวอย่างที่ผ่านเงื่อนไข/สถานที่ตัวอย่างทั้งหมดของธุรกิจบาร์และสถานบันเทิง 130/204, ธุรกิจศูนย์การแพทย์และโรงพยาบาล 143/204, ธุรกิจอาคารสำนักงาน 199/282, ธุรกิจร้านอาหาร 304/480 และธุรกิจร้านค้าปลีกและห้างสรรพสินค้า 145/180 การประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน), เคอร์ฟิว และห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย ส่งผลให้จำนวนการสัญจรด้วยเท้าลดลงและคงที่อยู่ในระดับต่ำที่สุดในช่วงระยะเวลาที่ศึกษา การสั่งปิดธุรกิจบาร์และสถานบันเทิงครั้งที่2 ใช้เวลาสองเดือนเพื่อควบคุมจำนวนการสัญจรด้วยเท้าให้อยู่ในระดับต่ำซึ่งระหว่างที่ประกาศใช้มีบางช่วงเวลาที่จำนวนการสัญจรด้วยเท้าเพิ่มขึ้นสวนทางกับจุดประสงค์ของมาตรการ และจากสถิติทดสอบพบว่าในเดือนตุลาคม ค.ศ.2022 ไม่มีธุรกิจประเภทใดฟื้นตัวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดโควิด-19