Abstract:
ในปัจจุบันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยมีการขยายตัวขึ้นอย่างมาก มีการเข้ามาตั้งรากฐานการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญอุตสาหกรรมหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งมีการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 90-95 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด ด้วยความต้องการที่เพิ่มสูงมากขึ้นทำให้มีผลกระทบกับห่วงโซ่อุปทานในส่วนของอุตสาหกรรมกลางน้ำ นั่นคือปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนของแผงวงจรรวม ซึ่งจากการศึกษาประเภทของผลิตภัณฑ์ของแผงวงจรรวม พบว่ากลุ่มผลิตภัณฑ์คลิปทองแดงหรือที่เรียกกันว่า Cu clip product เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกนำไปใช้ในกลุ่มอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวันมากที่สุด เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความต้านทานต่ำ ช่วยให้อุปกรณ์ทนต่อความร้อนได้ดี และมีความทนทานที่ค่อนข้างสูงมากกว่าชนิดอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ทางผู้จัดทำจึงเกิดความสนใจที่จะทำการศึกษาผลิตภัณฑ์คลิปทองแดง รวมถึงกระบวนการในการผลิตเพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้ในการที่จะปรับเปลี่ยนชนิดของคลิปทองแดงในผลิตภัณฑ์เพื่อลดต้นทุนในการผลิต เนื่องจากการศึกษาพบว่าราคาต้นทุนของผลิตภัณฑ์คลิปทองแดงมาจากกลุ่มวัตถุดิบ ซึ่งคิดเป็น 56 % จากราคาต้นทุนทั้งหมด และราคาวัตถุดิบที่แพงที่สุดได้แก้ คลิปทองแดง แต่เนื่องจากคลิปทองแดงชนิดใหม่นี้มีขนาดในบางจุดที่แตกต่างจากเดิม จึงต้องทำการเลือกใช้พารามิเตอร์ให้เหมาะสม โดยใช้วิธีการออกแบบการทดลองเพื่อหาค่าพารามิเตอร์ที่เหมาะสมจากวิธีการ 2k full factorial design มาเป็นเครื่องมือ รวมถึงศึกษาจุดคุ้มในการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ด้วย