Abstract:
ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่ก็ยังมีจำนวนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้งานรถยนต์แบบสันดาปที่มีมาแต่ดั้งเดิม ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจมีที่มาจากหลากหลายปัจจัย งานวิจัยนี้จึงถูกจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาปัจจัยที่ส่งอิทธิพล และมีผลกระทบต่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และระบุลำดับความสำคัญของปัจจัย รวมถึงระบุกลุ่มความสัมพันธ์เชิงสาเหตุและผลกระทบระหว่างปัจจัยที่ส่งอิทธิพลต่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภคใน ประเทศไทย ตลอดจนเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยกลุ่มสาเหตุและกลุ่มผลกระทบที่ส่งผลกระทบต่อกัน โดยมุ่งเน้นไปที่สามปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัจจัยการยอมรับเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า ปัจจัยการตัดสินใจที่มีผลต่อการ ซื้อ-ใช้ รถยนต์ไฟฟ้า และปัจจัยเชิงนโยบายที่ส่งผลต่อการ ซื้อ-ใช้ รถยนต์ไฟฟ้า การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณซึ่งใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูลจากกลุ่มผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย จำนวน 218 ตัวอย่าง จากนั้นจึงนำผลที่ได้มาวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติ และการวิเคราะห์องค์ประกอบ (Factor Analysis) เพื่อทำการลดจำนวนตัวแปรที่ไม่เกี่ยวข้องออก รวมถึงทำการจัดกลุ่มของปัจจัยใหม่ ก่อนที่จะนำไปเก็บข้อมูลจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจำนวน 17 ท่าน และนำผลที่ได้ไปวิเคราะห์ตามวิธีการดีมาเทลต่อไป ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับปัจจัยการยอมรับเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ ปัจจัยทัศนคติที่มีต่อการใช้งาน และปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อปัจจัยอื่นๆ มากที่สุด ได้แก่ ปัจจัยบรรทัดฐานส่วนบุคคล ในขณะที่ปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับปัจจัยการตัดสินใจที่มีผลต่อการ ซื้อ-ใช้ รถยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ ปัจจัยทางด้านผลิตภัณฑ์ และยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปัจจัยอื่นๆ มากที่สุด อีกด้วย สำหรับปัจจัยเชิงนโยบายที่ส่งผลต่อการ ซื้อ-ใช้ รถยนต์ไฟฟ้า ปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุด ได้แก่ ปัจจัยนโยบายแรงจูงใจการซื้อ และนอกจากนี้ปัจจัยนโยบายแรงจูงใจการซื้อยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปัจจัยอื่นๆ มากที่สุดอีกด้วยเช่นเดียวกัน ผู้วิจัยคาดว่า ผลที่ได้จากการวิจัยจะเป็นประโยชน์ในการกำหนด พัฒนา และปรับปรุงนโยบายของภาครัฐบาล และเอกชนในการส่งเสริมการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการผลิต และการลงทุนในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต