Abstract:
งานวิจัยนี้ศึกษาถึงผลกระทบของพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ต่อบทบาทของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมุ่งตอบคำถามว่า การประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 จะส่งผลกระทบต่อการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างไร รวมทั้งจะส่งผลกระทบต่อบทบาทของ วช. และการนำผลงานวิจัยที่ วช. ให้การสนับสนุนไปใช้ประโยชน์อย่างไร งานวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการเก็บข้อมูลปฐมภูมิจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 8 คน ผลการศึกษาพบว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 มีส่วนสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนบทบาทของ วช. ในฐานะหน่วยงานให้ทุนของรัฐ ให้มีลักษณะของการเป็นนักลงทุน (Investor) มากขึ้น โดยการจัดสรรเงินของรัฐไปลงทุนในโครงการวิจัยและนวัตกรรมของบริษัทเอกชน ซึ่งในอดีต วช. มีบทบาทด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เป็นเสมือนเพียงผู้ประสานงาน (Admin) ทำหน้าที่จัดสรรเงินทุนให้แก่นักวิจัยภาครัฐผ่านผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก และเป็นเสมือนนายหน้า (Broker) ทำหน้าที่จับคู่ความต้องการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยจากผู้ประกอบการภาคเอกชน เข้ากับนักวิจัยในหน่วยงานภาครัฐผู้มีคุณสมบัติหรือความประสงค์ทำวิจัยในเรื่องดังกล่าว การปรับเปลี่ยนบทบาทของ วช. จากผู้ประสานงาน (Admin) และนายหน้า (Broker) ไปสู่การเป็นนักลงทุน (Investor) มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้การจัดสรรทุนวิจัยของ วช. เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น โดยใช้ผลตอบแทนทางธุรกิจมาเป็นเกณฑ์ในการจัดสรรเงินทุนวิจัย และในขณะเดียวกันก็ลดทอนความสำคัญของงานวิจัยพื้นฐาน (Basic research) ในสถาบันอุดมศึกษาลงไป