Abstract:
สารนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะศึกษาถึง 1.ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จขององค์การธุรกิจ โดยอาศัยแนวคิดที่ปรากฏในหนังสือจากบริษัทที่ดี สู่ความเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ (Good to Great) ของ จิม คอลลินส์ และ 2.องค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลต่อคุณลักษณะของผู้นำองค์การธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จ โดยอาศัยแนวคิดผู้นำระดับที่ 5 ที่ปรากฏในหนังสือ จากบริษัทที่ดี สู่ความเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ (Good to Great) ของ จิม คอลลินส์ และ ภาวะผู้นำระดับ 5 ของ จอห์น ซี แม็กซ์เวลล์ เพื่อที่จะสามารถนำผลวิจัยไปปรับใช้และพัฒนาต่อยอด ทั้งในด้านของคุณลักษณะผู้นำองค์กรรวมถึงวิธีการและกระบวนการในการบริหารจัดการองค์กรของไทยให้สามารถประสบผลสำเร็จได้อย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาวิจัยประกอบไปด้วยองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน 3 องค์กร ที่ คือ 1.องค์กรที่พัฒนาที่พักอาศัยประเภทคอนโดมิเนียม 2.องค์กรที่พัฒนาที่พักอาศัยประเภทหมู่บ้านจัดสรร และ 3.องค์กรผู้รับเหมาก่อสร้างงานโครงการประเภทห้างสรรพสินค้าและห้างสะดวกซื้อขนาดใหญ่ และยังศึกษาวิจัยองค์กรธุรกิจสตาร์ทอัพ (STARTUP) ที่ประสบความสำเร็จได้ในระยะเวลาอันรวดเร็วอีก 2 องค์กร นั่นคือ 4.องค์กรที่เชี่ยวชาญงานด้านออแกไนซ์เซอร์ และ 5.องค์กรที่เชี่ยวชาญในงานด้านการให้บริการด้านเวที แสง-สี-เสียง และภาพในงานอีเว้นท์ต่าง ๆ โดยการวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการศึกษาข้อมูล เอกสาร และการสัมภาษณ์ผู้บริหาร เจ้าของกิจการ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับก่อการตั้งและการเปลี่ยนผ่านองค์กร รวมถึงการเข้าร่วมสังเกตการณ์ในกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรตัวอย่างที่ศึกษาวิจัยในครั้งนี้ด้วย
สามารถสรุปผลการศึกษาวิจัยได้ดังนี้คือ องค์กรตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จของไทยที่ทำการศึกษาวิจัย “ไม่มีความสอดคล้อง” ทั้งในด้านแนวคิดหรือแนวทางในการบริหารที่ปรากฏในหนังสือจากบริษัทที่ดี สู่ความเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ (Good to Great) ของ จิม คอลลินส์ โดยปัจจัยสำคัญที่องค์กรตัวอย่างมีคล้ายคลึงกันเพียง 1 ปัจจัย (จาก 6 ปัจจัย) นั่นคือ แนวความคิดแบบตัวเม่น (เลือกทำในสิ่งที่องค์กรเชี่ยวชาญที่สุด) คือ การที่องค์กรรู้ว่าตนเองเก่งหรือมีความเชี่ยวชาญในเรื่องใด และทุ่มเทลงมือปฏิบัติเฉพาะในสิ่งที่ตนเองถนัดและเชี่ยวชาญนั้นให้เป็นเลิศ และพัฒนาต่อยอดสิ่งนั้นให้กลายเป็นสิ่งที่องค์กรสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นเลิศ
ในส่วนของผลวิจัยด้านคุณลักษณะของผู้นำองค์การธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จของไทยนั้น พบว่า “ไม่มีความสอดคล้อง” กับแนวคิดผู้นำระดับที่ 5 ที่ปรากฏในหนังสือ จากบริษัทที่ดี สู่ความเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ (Good to Great) ของ จิม คอลลินส์ และ ภาวะผู้นำระดับ 5 ของ จอห์น ซี แม็กซ์เวลล์ เช่นกัน โดยองค์กรตัวอย่างที่ศึกษาวิจัยส่วนใหญ่มี คุณลักษณะของผู้นำเพียง “ระดับ 3” หมายถึง ผู้นำสร้างความสำเร็จของตนเองจาก “ผลงานที่เป็นเลิศ” และความสามารถใน “การสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคลที่ยอดเยี่ยม” จนได้รับการยอมรับในฐานะของการเป็นผู้นำองค์กรที่ดีที่ทุกภาคส่วนเคารพนับถือ
จากการศึกษาวิจัยพบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้แนวคิดจากหนังสือฯ เล่มนี้ ไม่สามารถนำมาใช้อธิบายองค์กรตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จของไทยได้มีผลมาจาก 1.ความแตกต่างระหว่างค่านิยมและวัฒนธรรมของคนไทยกับคนต่างชาติ อาทิ ในสังคมไทยที่เป็นสังคมแบบอุปถัมภ์ ระบบพวกพ้อง ระบบสายสัมพันธ์กับคนกลุ่มต่าง ๆ (Connection) หรือการเคารพผู้ที่มีอายุมากกว่าเสมอ (ระบบ Seniority) 2.นิยามของความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งหมายถึงองค์กรระดับสากลที่มีพนักงานหลายพันอัตรา และโครงสร้างองค์กรสลับซับซ้อน และต้องนำเสนอสินค้าและบริการที่มีการแข่งขันในตลาดอย่างรุนแรง ทำให้องค์กรต้องปรับตัวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 3.องค์กรธุรกิจของไทยที่จะสามารถเติบโตไปถึงระดับประเทศหรือระดับสากลได้นั้น จำเป็นต้องมีโครงสร้างการบริหารที่เป็นระบบและใช้ทีมผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ แต่องค์กรของไทยส่วนใหญ่ยังเป็นการบริหารแบบธุรกิจครอบครัว ทำให้การเติบโตตามแนวคิดที่ปรากฏในหนังสือฯ ไม่อาจนำไปใช้อธิบายได้ในทุกมิติของความสำเร็จ
ข้อเสนอแนะจากการวิจัย พบว่าทุกองค์กรสามารถประสบความสำเร็จได้จริง โดยการนำแนวคิดจากหนังสือ จากบริษัทที่ดี สู่ความเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ (Good to Great) ของ จิม คอลลินส์ และ ภาวะผู้นำระดับ 5 ของ จอห์น ซี แม็กซ์เวลล์ ไปใช้ได้ โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาองค์กรทั้ง 6 ด้าน โดยเริ่มให้ความสำคัญกับ “ระดับของการเป็นผู้นำ” ก่อน ด้วยการเริ่มต้นจากเป็นผู้นำที่ “เก่งและดี” ให้ได้ก่อน จากนั้นคือเรื่องของการคัดเลือก “คนที่ใช่” และตามมาด้วย “การทำในสิ่งที่ตนเองและทีมงานถนัดและเชี่ยวชาญ” โดยต้องไม่ลืมการใช้ “ค่านิยมและวัฒนธรรม” ของคนไทยเป็นตัวเสริมความสำเร็จขององค์กรด้วยเสมอ