Abstract:
การวิจัยเรื่องปัจจัยที่ส่งผลต่อการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน กรณีศึกษาอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการเก็บข้อมูลวิจัยแบบผสม (Mixed Method) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน เพื่อเปรียบเทียบการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน โดยจำแนกตามอายุ ระดับการศึกษา และระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง และเพื่อศึกษาแนวทางในการพัฒนาการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านในเขตอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ อันจะนำไปสู่การวิเคราะห์เพื่อเสนอแนะแนวทางการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน ผ่านประสบการณ์ของผู้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ และจากการวิเคราะห์และประมวลผล พบว่า ปัจจัยด้านเพศ มีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเพศชายส่วนใหญ่มีระดับผลการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านในระดับที่ต่ำกว่าเพศหญิง สำหรับปัจจัยด้านอายุ พบว่าหากผู้ใหญ่บ้านมีอายุเพิ่มมากขึ้น ผลการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ก็จะลดลงตามไปด้วย นั้นหมายความว่า อายุของผู้ใหญ่บ้านมีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจัยด้านระดับการศึกษา พบว่าหากผู้ใหญ่บ้านมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้นก็จะส่งผลต่อผลการปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่เพิ่มสูงขึ้น และปัจจัยสุดท้ายคือ ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง พบว่าเมื่อผู้ใหญ่บ้านมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่นานขึ้น จะทำให้ผลการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ลดลง และเมื่อพิจารณาผลการวิจัย ในปัจจัยเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่งกับการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ใหญ่บ้านพบว่า การที่ผู้ใหญ่บ้านยิ่งดำรงตำแหน่งนานผลการปฏิบัติหน้าที่ยิ่งลดลงนั้น เกิดจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านนั้นเปลี่ยนแปลงไป หรือผู้ใหญ่บ้านที่อายุเพิ่มมากขึ้นไม่ได้เข้ารับการฝึกอบรม หรือละเลยการหาความรู้เพิ่มเติม ทำให้ผู้ใหญ่บ้านรุ่นใหม่ ที่พึ่งเข้ารับตำแหน่งมีผลการปฏิบัติหน้าที่ที่ดีกว่า สำหรับผลการวิจัยเชิงปริมาณ ซึ่งมีจำนวน 3 ข้อ อันได้แก่ คำถามข้อแรกเรื่องความสำคัญของการดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ใหญ่บ้าน พบว่า ผู้ใหญ่บ้านและผู้ที่เกี่ยวข้องมีข้อสรุปเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ตำแหน่งของผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำหมู่บ้านมีความสำคัญมาก หากแต่จะต้องรู้จักบทบาทหน้าที่ รู้จักระเบียบกฎหมาย และซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยเชิงปริมาณในเรื่องของระดับการศึกษา ที่หากมีการศึกษาที่สูงขึ้นจะทำให้ผลการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ได้ดีมากขึ้น ข้อที่ 2เรื่องความแตกต่างของการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านระหว่างในอดีตกับปัจจุบัน พบว่า ผู้ใหญ่บ้านและผู้ที่เกี่ยวข้อง มีข้อสรุปว่า ความแตกต่างของการปฏิบัติงานในอดีตและปัจจุบันแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้ใหญ่บ้านที่เป็นสุภาพสตรีเพิ่มมากขึ้น และผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับเลือกตั้งเพราะความรู้ ความสามารถ โดยไม่ได้มาจากตระกูลผู้นำเหมือนในอดีต ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยเชิงปริมาณในเรื่องของเพศ ซึ่งบ่งบอกว่าหากมีเพศต่างกัน ผลของการปฏิบัติงานจะแตกต่างกัน และพบว่าเพศหญิงมีผลการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่.ในอัตราร้อยละที่สูงกว่าเพศชาย และข้อท้ายสุด คือข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน พบว่า ควรจัดให้มีการฝึกอบรมในเรื่องของระเบียบกฎหมาย และส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นปัจจุบัน เพราะผู้ใหญ่บ้านที่มีอายุมาก หรือดำรงตำแหน่งมานานจะจดจำแบบเดิม ๆ ที่เคยปฏิบัติ หากแต่กฎหมายได้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดการผิดพลาดในการปฏิบัติงานได้ สอดคล้องกับผลการวิจัยเชิงปริมาณในเรื่องอายุและระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง หากอายุและระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่มากขึ้น ส่งผลให้ผลการปฏิบัติงานลดลง